home register login webboard classified artist review article member


12586

  Artist :     ทศ พนมขวัญ   14 มิ.ย. 50    


วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับมือกลองอีกหนึ่งท่านที่คร่ำหวอดในวงการกลองมานาน ทั้งการเป็นนักเล่น ,คอลัมนิสต์ และอาจารย์ ด้วยสไตล์การเล่นอันลือชื่อและเฉียบขาดในสไตล์บลูส์ เร็กเก้ ที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง รับประกันได้ถึงการเล่นและความคิดที่มีอะไรใหม่ๆตลอด นั้นคือ พี่ “ ทศ พนมขวัญ ”

ก่อนเข้าบทสัมภาษณ์ เรามาดู Setup ของพี่ทศกันก่อนนะครับ ว่าใช้อะไรบ้าง

  พี่ทศ ตีโชว์โดยใช้กลองไฟฟ้า Roland V-Drums TD6KW"

  พี่ทศ ตีโชว์โดยใช้กลองไฟฟ้า Roland V-Drums TD6KW ตอน 2"

  พี่ทศ ตีโชว์โดยใช้กลองชุด"

DT : พี่เริ่มเล่นกลองยังไงครับ
พี่ทศ : พี่เริ่มต้นเล่นกับวงมาร์ชชิ่งครับ เริ่มเล่นก็น่าจะประมาณซักป.4 เล่นวงโย อืม..ป.4ถึงประมาณ ม.3หรือ ม.4 แล้วก็เริ่มเล่นกลองน่าจะซักประมาณขึ้น ม.4 แล้ว ก็ยาวมาตลอดเลยครับ น่าจะ 20 กว่าปีได้ แล้วก็มาเรียนเป็นเรื่องเป็นราวก็ตอนเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ ก็คือเรียนที่ศุภการกับอ.มังกร หลังจากนั้นก็หาประสพการณ์ด้วยตัวเองบ้าง แล้วก็เล่นกับวงในหลายๆรูปแบบ หลายๆสไตล์อย่างละนิดละหน่อย

DT : พี่เล่นกลองเป็นชิ้นแรกเลยหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : ใช่ครับ เล่นสแนร์กับวงโยเนี่ยะแหละ แล้วก็มาเล่นกับวงก็กลองเป็นชิ้นแรก เพราะทำไม..อืม.. พี่มีความรู้สึกจับมันแล้วตื่นเต้น รู้สึกสนุก

DT : ตอนเริ่มต้นเล่นพี่แบ่งเวลาซ้อมยังไงบ้างครับ
พี่ทศ : ก็สมัยก่อนก็มีพวกผู้ใหญ่ที่เขาเล่นอาชีพกัน เขาก็แนะนำว่าให้ซ้อม พวกข้อมือ พวก Rudiment อะไรพวกนี้ ก่อนที่จะมาเรียนกับอ.มังกร ก็มีนักดนตรีที่เล่นบาร์ เขาก็เอาไม้ที่ทำมาจากโลหะ พวกทองเหลือง มาให้คู่นึง แล้วก็บอกให้ซ้อมกับยาง อาจจะเป็นยางรถยนต์ หรือยางอะไรที่เอามาแปะกับแป้นแล้วตี ก็ตีเพื่อให้ข้อมือมันมีกำลัง แล้วก็ส่วนมากทุกวันพี่จะฝึกข้อมือ ถ้าอยู่ที่บ้านนะ แล้วถ้าไปโรงเรียนพี่ก็จะไปก่อน แล้วก็ไปนั่งตีกลองที่นั่น แต่ถ้ารูปแบบในการตี พี่คิดว่าส่วนมากพี่จะเป็นลักษณะที่ apply มากกว่า คือไม่ต้องซ้อมแบบหรือลักษณะที่มากมาย คือเอาแค่ไม่กี่รูปแบบแล้วพยายามพลิกแพลง

DT : แล้วส่วนตัวพี่เองพี่ชอบมือกลองคนไหน หรือมีการศึกษาการตีกลองจากคนคนนั้นหรือเปล่า
พี่ทศ : ตอนเด็กๆพี่ก็เหมือนๆเด็กทั่วๆไป ก็เริ่มจากร็อก ยุค 60,70 อะไรอย่างนี้ ก็เริ่มจาก Grand Funk ,Deep Purple พวก Lep Zeppelin แต่ช่วงที่มาฟัง R&B , Blues , Jazz อะไรพวกนี้ก็คงเป็นช่วงที่เข้ามาอยู่กรุงเทพ คือช่วงเด็กเนี๊ยะ ร็อกเท่านั้น (หัวเราะ)

DT : แล้วมาเล่นกับวงก็เล่นเพลงร็อก
พี่ทศ : ใช่ ก็เล่นเพลงพวกนี้มาตลอด แล้วก็โชคดีที่เพลงไทยุคนั้นยังไม่บูมเท่าไหร่ ก็เริ่มต้นจากร็อก 60,70 เนี่ยะแหละ เพลงไทยยุคนั้นก็เป็นยุคของ Grand Ex ยุค The Impossible อะไรพวกนี้ The Impossible ก็จะอยู่ช่วงปลายๆ แต่จะเป็น Grand Ex ที่ดังมากๆ

DT : แล้วพี่หันมาเล่นดนตรีอาชีพได้ยังไง
พี่ทศ : เล่นเป็นอาชีพนี่น่าจะเป็นช่วงปี 32 มั้ง ก็มาเจออ.มูซา เจอกันตอนนั้น อืม..แหล่งรวมนักดนตรีรุ่นเด็กๆ เราจะมีที่นัดพบกันก็คือร้าน woodstock ที่ปัจจุบันนี้อยู่ตรงสวนจตุจักร แต่ว่าก่อนหน้านั้นอยู่ตรงสี่แยกประตูน้ำ พี่ไม่แน่ใจนะว่าตอนนี้คือตรงหัวมุมที่อยู่ตรงนายเลิศตรงนั้นหรือเปล่า ก็ทุกๆวันหยุดก็จะเจอกัน จะไปนัดพบกัน ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้น T- Bone ก็เริ่มทำวง เขาทำก่อนพี่ประมาณปีนึง แล้วพี่ก็เริ่มเล่นกัน ถ้าจำไม่ผิดคือ picasso แล้วก็ blue moon ตรงเกษรพลาซ่า ก็คือการเล่นดนตรีจริงๆ เป็นอาชีพ


DT : จากเดิมที่พี่เล่นร็อกมาตลอดแล้วต้องเปลี่ยนตัวเองมาเล่นอีกสไตล์ อย่างวง musa blues band ที่เล่น บลูส์ เร็กเก้ หรืออาร์แอนด์บี ตรงนี้พี่มีวิธีฝึกอย่างไร
พี่ทศ : ก็..ฟังเลยครับ เพราะจริงๆแล้วพี่ก็ฟังมานานแล้วเหมือนกัน ฟังมาก่อนเล่น ด้วยความที่พี่ชอบฟังมันก็คงได้ประโยชน์จากตรงนี้ คือเราอาจจะไม่มีประสพการณ์ตรงนั้นว่าดนตรีแนวนี้เล่นยังไง แต่การฟังเนี่ยะพี่คิดว่า มันสามารถจับทิศทางของดนตรีในบางสไตล์ได้ ฟังช่วยได้เยอะ ถ้าฟัง..เราจะรู้รูปแบบของเพลงอย่างนี้ว่าเราจะใช้อะไรในการเล่น คือหมายความว่าการใช้เทคนิคหรือว่าใช้ฟิล มันควรจะเป็นแบบไหนของดนตรีแบบนี้ เพราะดนตรีแต่ละแบบฟิลการเล่นมันแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องของไดนามิกหรือความเข้าใจ

DT : แล้วกับหานึงที่คนร็อกมักจะเจอ นั้นคือพอตีร็อกมาแล้วต้องมาเปลี่ยนตีเพลงสไตล์เร็กเก้หรือบลูส์ มักจะตีแบบฝืนจังหวะ
พี่ทศ : มันจะไม่โยน

DT : ใช่ครับ
พี่ทศ : พี่ก็เป็น ตอนเล่นใหม่ๆ มันเป็นอยู่แล้ว ตีแล้วไม่ได้ฟิล ส่วนทำยังไงให้ได้ฟิล ก็คือ “ฟัง” แล้วก็ฝึก แต่เรื่องฟังนี่สำคัญเลยนะ ห้าสิบห้าสิบเลย คือฟังมันได้อะไรมากกว่าที่คิดนะ อาจจะไม่ต้องฟังแบบเอาสาระก็ได้ ฟังให้มันเข้าไปในหัวก่อน แล้วฟิลมันจะตามออกมาเอง แล้วมันมีอย่างนึงนะ ไอ้ดนตรีลักษณะแอฟริกันเนี่ยะเรื่องของ accent เนี่ยะมันจะไม่ใช่ 2 กับ 4 ส่วนมากจะเป็น 1กับ 3ไม่ว่าจะเป็นเร็กเก้หรืออะไรก็ตามที่เป็นแอฟริกันจริงๆจะเป็น 1 กับ 3 ทั้งนั้น คือ 2 กับ 4 มันจะเป็นพวกฟั้งก์หรือดนตรีอะไรที่มันเอามาประยุกต์เป็นดนตรีอเมริกาแล้ว แต่ถ้าเป็นแอฟริกันแบบดิบๆเลยจะเป็น 1 กับ 3 หรือถ้าเป็นเพลงป็อปที่เอามาทำเป็นโมเดิร์นเร็กเก้ก็อาจจะมี 2 กับ 4 แต่ถ้าเดิมๆเลยก็เป็น 1กับ 3

DT : แล้วกับการศึกษาเพลงสไตล์พวกนี้เพิ่มเติมหละครับ
พี่ทศ : ก็พยายามหาโน็ตหาอะไรมาดู ถ้าไม่มีก็สั่งมา

DT : คือสั่งจากเมืองนอกเลย
พี่ทศ : ก็ส่วนมากถ้าพวกหนังสือเนี่ยะ ก็จะมีที่ร้าน wilson ตรง ไปรษณีย์กลาง แล้วก็อีกร้านตรงซอยโรงหนังโคลัมเบียร์ มีอยู่สองที่ ก็ประมาณเกือบยี่สิบปีที่แล้ว

DT : แล้วนอกจากกลองแล้วในการเล่นเพลงพวกนี้ พี่ต้องไปศึกษาเครื่องดนตรีชนิดอื่นด้วยหรือเปล่า
พี่ทศ : ก็มีช่วงนึงที่ทั้งวงไปเรียนทฤษฎีดนตรีกับอ.วิชัย เที่ยงสุรินทร์ เรียนอยู่หลายเดือนนะ ก็คือช่วงก่อนแกเสีย ประมาณ 4 –5 เดือนคือมีพวกผู้ใหญ่เขาบอกว่า “เล่นดนตรีบางครั้ง ถ้าไม่นับห้อง สิ่งที่ช่วยได้อีกอย่างคือฟังเมโลดี “ จริงๆแล้วจะเป็นแจ็สหรืออะไรก็แล้วแต่ ท่อนของเพลงส่วนมากเนี่ยะ ถ้าไม่ใช้เพลงที่แบบหลุดหรือเอาด์ออกไปมากๆเนี่ยะ ท่อนมันจะซ้ำ อย่างที่เราเห็นๆกันก็คือ 12 บาร์บลูส์ หรือเพลงอย่างทางคอร์ด 1 ,6 ,2 ,5 ตรงนี้ก็ไปนั่งเรียน มันก็ช่วยได้ บางครั้งถ้าเราไม่นับ เราก็ฟังจากคอร์ดเอา ถ้าคอร์ดมันวนหนึ่งรอบปุ๊ป เราก็จะกลับมาที่หนึ่งเหมือนเดิม ตรงนี้พี่ก็คิดว่ามันได้ฟิลมากกว่าด้วย มันจะได้ความรู้สึกร่วมกับคนในวงในเรื่องของเมโลดีและคอร์ดด้วยนะ พี่ว่าดีกว่าการนับห้อง

DT : ถ้าอย่างนั้นมือกลองหลายๆคนควรจะศึกษาเรื่องพวกนี้เพิ่มเติม หรือฟังเครื่องดนตรีชิ้นอื่นมากขึ้น
พี่ทศ : ใช่ครับ เพราะการเล่นดนตรี มันไม่เหมือนกับการเขียนรูปนะ มันเป็นการ อืม.. มีปฎิสัมพันธ์กันในวง คือเล่นปุ๊ปแล้วต้องมองตา มีการสื่อสารกันตลอด ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแนวไหนก็ตามนะ

DT : ส่วนตัวพี่แล้ว มีการนำเอาพวกเมโลดีมาเปลี่ยนเป็นจังหวะกลองอย่างที่มือกลองแจ็สชอบทำกันหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : ก็มีบ้างนะ ส่วนมากก็พวกฟั้งก์กี้ ลักษณะคอร์ดของมันกับไฮแฮทเนี่ยะ ที่เขาชอบพูดกันว่า “เวลากีต้าร์เล่นเป็นคอร์ดเนี่ยะ ไอ้เครื่องของกลอง ที่เป็นฉาบหรือสแนร์เนี่ยะ มันจะไปกับคอร์ดของกีต้าร์ แต่ว่าเบสดรัมมันจะไปกับเบส”

DT : แล้วพี่มีการนำสไตล์อื่นๆมาใช้กับสิ่งที่เล่นอยู่บ้างหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : มีครับ มีเลย มันมีอันนึง ตอนนี้ที่พี่กำลังลองอยู่เนี่ยะ ฝรั่งเรียกว่า “Code” มันคือการสลับตำแหน่ง อยางคำว่า linear เนี่ยะ ปรกติจังหวะที่เราตีมันคือ 1 & 2 & 3 & 4 แล้วเราลองตีไฮแฮทไม่ครบ ซึ่งปรกติเราจะตีไฮแฮทเป็น 8th โน็ตใช่ไหม แล้วที่นี้เราลองตีไฮแฮทเป็นตรง “& (แอนด์)” อย่างเดียว แล้ว Code ก็คือการย้ายตำแหน่ง เช่นเราตัดตัวที่ 1 ออกไปแล้วเราใช้ตัวที่ 2 เป็นตัวที่ 1 แทน แล้วเอาตัวที่ 1ไปอยู่ที่ตัวสุดท้าย ลักษณะของการเปลี่ยน code เนี่ยะ ฟิลก็จะเปลี่ยนไปด้วย

DT : มันคล้ายกับการเล่น poly rhythm อย่างหนึ่ง
พี่ทศ : ใช่ !! จากแฮทที่ตีเต็มๆแปดตัว มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น ตอนนี้พี่ทดลองอย่างนี้อยู่ แล้วรู้สึกว่าชอบ มันสนุกดี (หัวเราะ)

DT : การเล่นอย่างนี้ต้องมีการเตรียมตัวกับมือเบสค่อนข้างเยอะ
พี่ทศ : อืม..ส่วนมากจะบอกนะ แต่ว่า (หัวเราะ) อย่างวงล่าสุดที่พี่เล่นด้วยกัน พี่คิดว่ามันคงจะมีปัญหาด้านการสื่อสารและทัศนะคติทางดนตรีมากกว่ามั้ง คือความรู้สึกที่เล่นบลูส์เนี่ยะ ความรู้สึกของคนเล่นกีต้าร์เขาอาจจะรู้สึกว่าการเล่นอย่างนี้เขายุ่งยากเกินไป มันเป็นเรื่องที่ต่างกันตรงวิธีคิดมากกว่า คือความรู้สึกพี่ พี่เคยนำเสนอว่าถ้ามันไม่ใช่บลูส์แบบ tradition เป็นอะไรอย่าง เอ่อ..scott henderson หรือ robben ford อะไรพวกนี้ เขาคงรู้สึกว่ามันยุ่งยากเกินไป เขาอยากเล่นอะไรง่ายๆ เล่นโจ๊ะๆให้คนฟัง คนดิ้น แต่ว่าถ้าพูดตามความรู้สึกของพี่ พี่ไม่ชอบดนตรีอย่างนั้น มันน่าเบื่อ แล้วบางทีมันเป็น 12 บาร์ทั้งคืนเลยหรือว่า 8 บาร์ แล้วเล่นอย่างนั้นแบบ 20 เพลงทั้งคืนนะ สำหรับคนเล่นกลอง พี่ว่ามันไม่แฮปปี้เลย แบบโซโล่กันกระจายเลย 200 บาร์อย่างเนี้ยะ พี่เจออย่างนี้มาหลายปี พี่มีความรู้สึกว่ามันไม่เห็นแก่ตัวไปหน่อยเหรอ เล่นดนตรีแบบไม่แบ่งให้เราเล่นเลย บลูส์มันมีหลายแบบไง พี่ก็ยังงงว่าทำไมเล่นกันอยู่แบบเดียว มันอาจจะไม่ใช่ความผิดของเขาก็ได้ เราคิดอีกแบบเขาคิดอีกแบบ มันเป็นความรู้สึกที่แตกต่างกัน

DT : ที่ผ่านมาพี่ได้ร่วมงานกับใครมาบ้าง
พี่ทศ : ก็มีแผ่นดิน ถ้ามีงานอัลบั้มส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช่เพลงป็อป ก็จะเป็นลักษณะเพื่อนกันบ้าง หรือคนที่ชอบวิธีเล่นวิธีคิดของเรา ก็มี “ราศี-ดิบ ” ก็คือ รังสรรค์ ไชยา เป็นเพื่อนที่เชียงใหม่ แล้วก็มีงานพวกใต้ดินในเชียงใหม่ ส่วนจ็อบอื่นก็เป็นงานของวงตัวเอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จครับ (หัวเราะ) เรียบร้อยไปแล้ว แล้วก็มี คาราบาวบลูส์ แล้วก็มี intro to 2000 ของแกรมมี่ แล้วก็มีพี่นุภาพ สวรรตรัส แล้วก็ พราย ปฐมพร ,จีวัน แล้วก็งานที่รับจ้างตีในห้องอัดอีกหลายๆคน

DT : ขอพูดถึงวงแผ่นดินหน่อยครับ เพราะถือว่าเป็นวงบลูส์ที่เจ๋งวงนึง ช่วงนั้นพี่มีการคิดเพลงหรือทำงานกันอย่างไรครับ
พี่ทศ : ส่วนมากก็จะซ้อมครับ อย่างก่อนที่ทำอัลบั้มคาราบาวบลูส์ ก็จะซ้อม แล้วก็อัดสด คือทุกคนเล่นพร้อมกัน แต่ไลด์โซโล่อาจจะตามมาอัดทีหลัง แต่ในส่วนริทึ่มอาจจะอัดก่อน เอาริทึ่มยืนพื้นไว้ เพื่อที่ว่าคนที่ไม่ว่างในวันนั้นเขาก็จะตามมาใส่ ก็ซ้อมกันประมาณ 3 –4 เดือนแล้วก็อัด แล้วมากำหนดท่อนหรือส่วน แล้วก็รายละเอียดก็จะมากำหนดก่อนอัดซัก 2 อาทิตย์อีกที พี่ว่าวิธีอย่างนี้ดี ซ้อมแล้วอัด ไม่ควรแบบมาแล้วอัดเป็นไลด์ๆ

DT : แล้วกับวิธีที่พี่ฝึกเพื่องานในห้องอัดอย่างนี้ พี่ฝึกอย่างไงครับ
พี่ทศ : ก็เล่นกับเมโทรนอมเยอะๆครับ

DT : ระหว่างการฝึกมือซ้ายกับมือขวา พี่ให้ความสำคัญกับการฝึกมือไหนมากที่สุด
พี่ทศ : ปรกติแล้วคนจะถนัดมือขวาใช่ไหม แต่พอมาฝึกกลองปุ๊ปเนี๊ยะมือซ้ายก็ต้องเป็น 2 เท่าของมือขวา เพื่อให้บาลานของสองมือเท่ากัน ถ้ามือขวาทำอะไรได้ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยๆมือซ้ายต้องได้ 80 –90 เปอร์เซ็นต์

DT : อย่างนี้ต้องฝึกสลับมือ อย่างใช้มือซ้ายจับช้อนกินข้าวอย่างนั้นเลยหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : อืม .. ส่วนมากพี่ก็ได้นะในหลายๆอย่าง เช่นแปรงฟันมือซ้ายก็ได้นะ กินข้าวมือซ้าย แล้วก็มันมีวิธีฝึกอันนึงก็คือ ฝึกแบบลักษณะ อืม..สลับมือ เป็นการเปลี่ยนฟิลไปเรื่อยๆ สมมติว่าตีมือขวาได้แล้ว ก็หันไปตีมือซ้าย เออ..โน๊ตปรกติที่เราตีมือขวาเนี่ยะ จะเป็นการตีไฮแฮท ที่นี้พอเข้าห้องที่สอง เราก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายตี แล้วก็อันที่ใช้มือซ้ายตีเราก็ใช้มือขวาแทนมือซ้าย แล้วใช้มือซ้ายตีแทนมือขวา แล้วพอมาห้องที่สามเราก็กลับมาตีเหมือนห้องที่หนึ่ง อันนี้ก็ช่วยได้เหมือนกัน

DT : ตีเสร็จกลายเป็น Billy Cobham เลย
พี่ทศ : (หัวเราะ) ใช่ Billy Cobham, Simon Phillips ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เขาเรียกว่า modulation คือการสลับมืออย่างละบาร์ มันก็จะทำให้มือซ้ายทำงานได้ดีขึ้น ถ้าถามพี่นะ ว่ากรฝึกอย่างนี้ ถ้าทำไปจนถึงจุดๆหนึ่งนะ บาลานมันน่าจะออกมาเท่ากันเลย

DT : อุปกรณ์ที่พี่ใช้มีอะไรบ้างครับ
พี่ทศ : ก็ไม่มีอะไรมากครับ ก็พื้นๆทั่วๆไป เพียงแต่ว่าพี่ชอบปะดิษฐ์เท่านั้นเอง พี่เคยได้ไอเดีย เอ่อ..ถ้าจำไม่ผิดนะพี่เคยฟัง Weather Report จะมีอยู่ชุดนึงที่ Omar Hakim เอาฝาหม้อมาใช้ พี่ว่าซาวด์มันก็เข้าท่าดี

DT : แล้วพี่เอามาลองหรือเปล่า
พี่ทศ : ลองครับ มันก็มันดี (หัวเราะ) ตอนนี้พี่ซื้อคล้ายๆฆ้องจีน มันจะต่างกัน มี 3 ไซด์ครับ ว่าจะเอามาทำคล้ายๆระนาด แต่มันคงไม่มีโน็ตเยอะเท่า มันก็น่าจะให้เสียงที่น่าตื่นเต้นหน่อย

DT : แล้วฉาบพี่ใช้เบอร์อะไรบ้าง
พี่ทศ : หลักๆตอนนี้พี่ใช้ 16,17 crash แล้วก็ 21 ride ไอแฮท 13 นิ้ว แล้วก็ Splash 10 นิ้ว แล้วที่เหลือจะเป็นพวกแอ็ฟเฟ็คครับ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นของจีน พี่ชอบฉาบจีน พี่ว่าเสียงมันมีเสน่ห์ดี

DT : แล้วสแนร์หละครับ
พี่ทศ : ตอนนี้มีลูกศิษย์ทำให้ ยี่ห้อ Momentis ที่เคยลงโฆษณาไป

DT : จำเป็นไหมครับว่ามือกลองจะต้องมีสแนร์หลายๆใบเพื่อการเล่นเพลงหลายๆสไตล์
พี่ทศ : ถ้าการทำงานในห้องอัดพี่ว่าจำเป็นนะ แต่ถ้าเล่นสดพี่ว่ามีสแนร์ใบหลักๆใบนึงและก็มีใบเล็กๆที่เป็นเอ็ฟเฟ็ค ถ้าต้องการซาวด์ที่แตกต่าง

DT : แล้วพี่มองพวกกลองไฟฟ้าบ้างหรือเปล่า
พี่ทศ : เออ.ชอบเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เพราะว่าพี่มีคอนเสิร์พี่ยืมกลองไฟฟ้า Roland ของธีระ มันจะเป็นเอ็ฟเฟ็คพ่วง มันจะมีโปรแกรมนึงเป็นกลองอินเดีย ให้เสียงเป็น tabla มันสามารถตีออกมาเป็นทั้งเมโลดีและริทึ่มได้เลย ในชุดนึง ก็คือฉาบด้านขวามันจะเป็นโทนเสียงของซีต้าร์ พี่ไม่แน่ใจว่ามันอัดลงไปกี่เสียงนะ แต่เวลาตีปุ๊ปเสียงจะเปลี่ยนไปตลอดเลย เป็นเมโลดีเลย

DT : ตีตามน้ำหนัก
พี่ทศ : ใช่!! ตีตามน้ำหนัก แล้วก็จะมีตั้งแต่เสียงสูงไปถึงเสียงต่ำ ข้างล่างจะเป็นเสียงไวเบร็ดข้างบนจะเป็นเสียงแท็ปปิ้ง เสียงสแล็ปอะไรอย่างนี้ คือเล่นเป็นเพลงได้เลย

DT : แล้วกับเรื่องของเนื้อไม้หละครับ
พี่ทศ : ไอ้กลองที่พี่ใช้เนี่ยะมันเป็นไม้ไทย ไม้ประดู่ คาเร็กเตอร์ของไม้ประดู่ ถ้าพี่จำไม่ผิดนะ เมืองนอกก็มีทำ มันเป็นตระกูลไม้เนื้อแข็งครับ เสียงที่ออกมาก็ค่อนข้างจะ attack หน่อย พี่ชอบกลองจูนให้มันตึง ไม่ชอบเสียงกลอง warm ชอบแบบพุ่งๆ อันนี้คือความชอบส่วนตัวเลย
DT : หลายๆคนจะชอบเมเปิ้ลกัน
พี่ทศ : อืม.. พี่มีความรู้สึกว่ามันตีไม่ออกนะ (หัวเราะ)

DT : ไม้ที่ใช้เบอร์อะไรครับ
พี่ทศ :ขนาด 5 a ครับ

DT : แล้วเพลงแต่ละสไตล์จำเป็นต้องเปลี่ยนไม้ด้วยหรือเปล่า
พี่ทศ : อืม..มันก็คงจำเป็นในลักษณะว่าเราตีเพลงหนัก แล้วเราใช้ไม้เล็กๆ มันอาจจะหัก และอีกอย่างพี่ว่ามันอยู่ที่สมดุลย์ของรูปร่างเราด้วยมั้ง อย่างมือเราใหญ่แล้วเราใช้ไม้เล็กมันก็คงไม่เหมาะ คือน่าจะใช้ไม้ให้เข้ากับสรีระของตัวเองมากกว่า เหมือนกับ set up กลองเหมือนกัน พี่ไม่ชอบกลองชุดใหญ่ๆ เพราะเวลาตีปุ๊ป เนี๊ยะ มันไกลมือไง วีธีการตีกลองที่ดีที่สุดคือการวางมือตีลงไป มันควรจะโดนแล้ว ไม่ควรจะเอื้อม ไม่สูง ตีแล้วรู้สึกสบาย

DT : แล้ว Set Up ของพี่วางยังไงครับ แล้วเรื่ององศาด้วยครับ
พี่ทศ : พี่ชอบแบบระนาบต่ำ องศาไม่เอียงมาก คือสแนร์กับทอมเกือบเท่าๆกัน

DT : แล้วกระเดื่องหละครับ
พี่ทศ : adjust ใช่ไหม เฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 6 –7 นิ้ว ระยะห่างจากหัวกระเดื่องถึงหนัง

DT : แล้วกับการเล่นดนตรีกลางคืน ที่แต่ละร้านจะวางกลองไม่เหมือนกัน ตรงนี้พี่ทำยังไง
พี่ทศ : เอ่อ..ส่วนมากพี่จะเอาอุปกรณ์บางอย่างไปเอง อย่างพี่จะใช้ฉาบ 5 ใบ พี่ก็จะเอาไปเลย แล้วพี่ก็จะพกอะแด็ปเตอร์ที่เป็นขาเอาไว้จับเอาไปด้วย แต่ว่ากลองส่วนมากแล้วพี่ว่ามันขยับได้นะ คือจะเป็นการจูนนิ่งที่คนอื่นๆในร้านจะเล่นได้ด้วย ก็เอาแค่กระเดื่อง สแนร์ ฉาบไปด้วยก็พอแล้ว

DT : แล้วอย่างปัญหาเรื่องซาวด์หละครับ ถ้าอย่างซาวด์จากด้านหน้าได้ยินไม่ถึงเราตรงนี้พี่มีวิธีแก้ยังไงครับ
พี่ทศ : ส่วนมากปัญหานี้จะเป็นการเล่นข้างนอกมากกว่า เล่นในร้านแทบจะไม่มีปัญหาเลย นอกจากมือกีต้าร์ที่เล่นกับเรา จะเล่นดังเกินไปจนไม่ได้ยิน แต่ถ้าเล่นบนเวทีเนี่ยะพี่จะขอมอนิเตอร์ เราอยากได้ยินเสียงอะไรเราขอมอนิเตอร์เลย แล้วปัญหาตรงนี้จบเลย คือตอนซาวด์เช็ค ก็ถามทุกคนในวงเลยว่าได้ยินเสียงกันหรือเปล่า ถ้าได้ยินกันตรงนี้น่าจะโอเคแล้ว เรื่องบาลานนี่สำคัญนะ คือต้องขนาดไหนแล้วทุกคนได้ยินกันหมด

DT : การเล่นเป็นวง พี่ต้องให้ความสำคัญกับไฮแฮทเป็นพิเศษหรือเปล่า เพื่อให้ทุกคนได้ยิน
พี่ทศ : พี่ว่าบาลานด์ของมือกับเท้านี่น่าจะพอกันเลยนะ เพียงแต่ว่า accent จะเน้นหรือไม่เน้นก็อยู่ตรงช่วงหัวเพลงแล้วก็ช่วงเปลี่ยนท่อน แล้วก็..ช่วงจบ ตรงนี้สำคัญ ถ้านับขึ้นดีทั้งเพลงก็ดี แต่ถ้านับขึ้นไม่ดี โอกาสเป๋ก็มีสูง

DT : แล้วในกรณีที่ต้องมีการโชว์โซโล่กลอง ตรงนี้ส่วนใหญ่พี่จะเตรียมมาหรือว่าอิมโพรไวส์เลย
พี่ทศ : เอ่อ..ส่วนมากสมัยที่เล่นบลูส์เนี่ยะ พี่จะมีวิธีคิด ที่เอาแจ็สมาปรับใช้ โซโล่มันมีอยู่ 2 อย่างคือ open solo ทุกคนในวงจะหยุดหมดปล่อยให้กลองเล่นตัวเดียว และแบบเมโลดิก คือพี่ก็นำไปใช้นะ แต่พี่ก็ไม่เข้าใจนะ พี่ก็ทำการบ้านไป แต่พอดีคนในวงแบบสื่อสารกันไม่ได้เลย เขาก็คิดของเขา เราก็คิดของเรา มันก็พูดยาก แต่ส่วนตัวที่พี่อยากเล่น พี่อยากให้มีตัวริทึ่มเล่นคลอไปอยู่ข้างหลัง แล้วเราก็เล่นไปกับเมโลดีตรงนั้น ไม่หยุดไปเลยแต่เล่นซัพพอร์ตให้เรา สมมติ 12 ห้อง ก็เล่นคอร์ด 1,4,5 ให้เราได้ยินบางๆ ตรงนี้สนุกกว่า open solo ถ้าเล่นแบบ open solo เช่นเวลาเราเล่นจนหมดแล้ว เราจะทำยังไง อย่างเป็นอย่างนี้เล่นซัก 24 บาร์ พี่ก็ว่าพอแล้ว

DT : เป็นหลักการเดียวกับพวกแจ็ส
พี่ทศ : ใช่!!


DT : แล้วกับพวกแจ็ส พี่มีวิธีฝึกอย่างไงครับ
พี่ทศ : ก็ฟังครับ ส่วนมาก เพราะพี่เก็บแผ่นพวกนี้ไว้เยอะพอสมควรเลย แผ่นพวกที่มือกลองที่เป็นแจ็สเนี่ยะ น่าจะมีซักร้อยกว่าๆ คือนอกจากที่ชอบตีกลองแล้ว พี่ชอบฟังด้วย

DT : การเล่นสไตล์นี้ จำเป็นหรือเปล่าครับที่ต้องแกะ
พี่ทศ : อืม ..แจ็สมันเป็นดนตรีที่แกะไม่ได้ มันเป็นเรื่องของปฎิภาณ “การที่เราจะไปก็อบปี้ Tony William แล้วเราบอกว่าเล่นแจ็สพี่ว่ามันไม่ใช่ ” พี่ว่ามันเรื่องของแรงบัลดาลใจ เมื่อไม่กี่วันมานี่ ปราชญ์ ให้งานแปลมา เป็นเรื่องของ Steve Gadd คือเขาเล่นแจ็สมาไม่นานมาก Steve Gadd กับ Tony William อายุไม่ต่างกันมากนะ แต่มันมีการยอมรับซึ่งกันและกันอยู่ คือวิธีการประยุกต์การเล่นอย่างนี้ Steve Gadd เขาบอกว่าเขาได้มาจาก Tony William ส่วน Tony William มาตีให้ Miles ตั้งแต่อายุ 17 ไม่ธรรมดานะ คือ Tony William ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนะ น่าจะได้อิทธิพลมาจกาพวกร็อก คือวงของเขาเอง ไอ้ Life Time มันจะมีความเป็นร็อกอยู่ด้วย มันไม่ต้องตายตัวว่าจะตีแบบสวิงอย่างเดียว ถ้าจะมากำหนดว่าการตีอย่างนั้นคือแจ็สมันไม่ใช่ มันเป็นแค่จังหวะ คำว่าแจ็ส คือการเล่นแบบใช้ ปฎิภาณ แล้วก็ใช้การสื่อสาร การโต้ตอบมากกว่า คือต้องฟังเอาแนวทาง แล้วฟังดูว่าเขาเล่น ยังไง มันเป็นการศึกษาแนวทางมากกว่า รูปแบบอย่างนี้คอร์ดอย่างนี้ ฟอร์มอย่างนี้ เขาเล่นอย่างไร ถ้าเรามีโอกาสได้เล่นอย่างนี้บ้าง เราก็ดึงไอ้สิ่งที่เราเคยฟังมาใช้

DT : ปัจจุบันนี้พี่ทำอะไรอยู่บ้างครับ
พี่ทศ : ตอนนี้หลักๆก็คือสอน ส่วนวงตอนนี้พี่คิดว่าพี่คง อาจจะไม่เล่นกลางคืนให้คนกินเหล้าฟัง พี่อยากทำวงในลักษณะที่มีโชว์ก็ไปเล่น ตอนนี้พี่ทุ่มเวลาทั้งหมดนอกจากการสอนเนี่ยะ ก็คือซ้อมกับวงจี-วัน เพราะกับ จี-วัน เนี่ยะร่ามงานกันมาสองถึงสามครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้รูปแบบก็คือ เป็นธรรมอย่างเดียว เป็นการใช้บทกวีของท่านพุทธาตุภิขุ มาทำเป็นเพลง ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเนื้อร้องที่ได้แรงบัลดาลใจจากการอ่านงานของท่าน พี่คิดว่ามันเล่นแล้วมีความสุขดี พี่แฮปปี้มากเลย มันสามารถครีเอทได้ ดนตรีก็ค่อนข้างร่วมสมัย มีสกา,เร็กเก้ มีฟั้งก์ มีอะไรที่เป็นรูปแบบของพี่เอง

DT : แล้วกับงานเพลงของพี่เองนี้คิดจะทำหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : เคยคิดจะทำครับ แต่มันยังไม่ลงตัวซักที เรื่องเกี่ยวกับเวลาด้วย และเมื่อสองปีที่ผ่านมาพี่มีปัญหาเกี่ยวกับวงเยอะ ตอนนี้มันก็คงมีเวลาว่าเยอะขึ้นที่จะทำ

DT : จะออกมาเป็นสไตล์ไหนครับ
พี่ทศ : ก็คงจะออกมาหลากหลาย เพราะพี่ฟังมาค่อนข้างเยอะและหลากหลาย ตอนนี้ที่ชอบๆก็พวกเพลงแบบไมเนอร์ พวกดนตรีตะวันออก อินเดียก็ชอบ พวกบาหลีอย่างนี้

DT : ก็พวกเวิล์ลมิวสิค
พี่ทศ : ประมาณนั้น ระยะหลังจะออกมาเป็นเวิล์ลมากกว่าแจ็สซะอีกที่ฟัง แจ็สที่จะฟังก็คือพวก ECM ที่จะมีแจ็สผสมกับเวิล์ล

DT : แล้วพี่มีโครงการจะเปิดโรงเรียนสอนเป็นของตัวเองหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : คงยังครับ พี่ว่าอย่างนี้มันมีความสุข พี่เคยสอนที่บ้านแล้วมันมีปัญหาเยอะเหมือนกัน เยอะกว่าที่คิด สอนที่โรงเรียนพี่ว่ามันแฟร์ดี ก็อย่างเราเป็นเพื่อนกับปราชญ์กับหล้าอย่างนี้ มันง่ายดี

DT : ตอนนี้สอนที่ Prart Music อย่างเดียวเลยหรือเปล่าครับ
พี่ทศ : มีที่ปากน้ำด้วย ของมือเบสที่วงจีวัน แล้วก็อาจจะไปสอนตามบ้านด้วยครับ อาจจะสอนอาทิตย์ละวัน

DT : ช่วงนี้พี่ฟังงานเพลงของใครอยู่บ้างครับ
พี่ทศ : อืม..พี่ฟังสลับไปเรื่อย ถามว่าพี่ชอบใคร พี่หลายใจเลยนะ

DT : แล้วมือกลองที่พี่ชอบมีใครบ้างครับ
พี่ทศ : David Garibaldi มือกลอง tower of power แล้วก็ Steve Gadd คือสองคนนี้สไตล์ใกล้ๆกัน เพราะไอ้วิธีคิดเป็น Code นั้นแหละ พี่คิดว่าถ้าฝึกตรงนี้ได้ มันก็ไม่จำเป็นที่ต้องก็อปปี้ ย้ายตำแหน่งได้เรื่อยๆ 1 แพทเทิร์นย้ายตำแหน่งได้ 16 ครั้ง ที่นี้ accent ก็ขึ้นอยู่ที่เราเลย

DT : ถ้ามีใครสนใจอยากเรียนกลองกับพี่จะสามารถติดต่อได้ที่ไหนครับ
พี่ทศ :ก็คงที่ Prart เลยครับ คือถ้าไปที่นั้นก็มีคนจัดเวลาเลยครับ

DT : คำถามสุดท้ายแล้วครับ พี่มีอะไรอยากฝากให้กับน้องๆมือกลองกันบ้างครับ
พี่ทศ : ก็คิดว่าสื่อในปัจจุบันนี้ มันทันสมัยกว่าตอนที่พี่เริ่มเล่นกลอง สื่อเดียวนี้มันส่งตรงมากกว่า ถ้าคิดจะทำดนตรีให้ออกมาได้มาตราฐานเท่ากับเมืองนอกเนี่ยะ พี่ว่ามันเป็นไปได้ ถ้าเทียบเมื่อซัก 20 – 30 ปีที่แล้วตอนพี่เด็กๆเนี่ยะ มีผู้ใหญ่เคยพูดให้ฟังว่า “ดนตรีบ้านเรา เหนือกว่าพวกฮ่องกง เหนือกว่าพวกอินโด มาเลย์” คนพวกนั้นอาจจะได้เปรียบตรงที่เขาเคยเป็นเมืองขึ้นแล้วภาษาเขาได้ แต่ว่าเมืองไทยเมื่อก่อนเนี่ยะ การฟังเพลงหรือวิธีการเล่นของเรามันทันสมัยมากกว่า แต่ปัจจุบันนี้เรามีสื่อมีอะไร พร้อมทุกอย่าง แต่ว่าเราไม่สามารถเปิดตลาดพวกนั้นได้ ณ วันนี้นักดนตรีอินโดหรือนักดนตรีมาเลย์เขาไประดับโลกกันเยอะแล้ว พี่ก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมบ้านเราไปไม่ถึงตรงนั้น หนึ่งเลยพี่คิดว่าเรื่องของทรรศนะคติ แล้วก็เรื่องของการรวมกันไม่ได้ของนักดนตรีในบ้านเรา คือมันยังมีการแบ่งพรรค แบ่งพวกกันเยอะครับ ไอ้ตรงนี้พี่ว่ามันเป็นตัวทำลายเลยนะ ทำลายหลายๆอย่าง เด็กก็มีการยึดติดสถาบันว่า ไอ้คนนี้เด็กที่นั้นนะ อะไรอย่างนี้ มันรวมกันไม่ได้ไง พอรวมกันไม่ได้มันก็จบแล้วไง การยอมรับกันในเรื่องของตัวตนพี่ว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญ และมันก็เป็นเรื่องธรรมดาของตัวพี่เอง ที่มีทั้งคนชอบและก็ไม่ชอบพี่ตี แต่พี่ก็ไม่แคร์ไง แต่ถ้ามีคนเกลียดพี่หมดพี่อาจจะเลิกเล่นก็ได้ (หัวเราะ) ถ้าเป็นไปได้ก็ไปให้ถึงฝันเลยครับ เพราะสื่อมันมีเยอะมาก เด็กหลายๆคนเก่งเยอะนะ และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือการฟัง มันสามารถเปิดโลกในหลายๆอย่าง เพราะดนตรีมันไม่ใช่แค่มีแต่การเล่น หลังจากที่เราเล่นแล้ว มันต้องมีวิธีการคิดเป็นของตัวเองมากกว่าการก็อปปี้ แล้วถ้าหาตัวเองเจอมันก็จะมีความสุขด้วยนะ

สัมภาษณ์สุดยอดมือกลองกระเดื่องคู่ เลาะห์ อิทธิชัย บัวแก้ว
Click Here
สัมภาษณ์ น้าเป้า คาราบาว พร้อมสาธิตการเล่นในแบบต่างๆ
Click Here
Ari Hoenig สุดยอดมือกลองแจ๊สรุ่นใหม่
Click Here
Simon Phillips มือกลองผู้เล่นได้แบบ all-around
Click Here
Steve Smith หนึ่งในเทพเจ้ามือกลอง Jazz
Click Here
สัมภาษณ์ พี่เล็ก ทีโบน
Click Here
อ่านทั้งหมด Click ที่นี่

any comments, please e-mail   webmaster@drummerthai.com)
© All rights reserved 1999 - 2010. All contents in this web site are the properties of www.drumthai.com and Saratoon Suttaket