home register login webboard classified artist review article member


41079

  Artist :     “กิตติศักดิ์ โคตรคำ” หรือ “ใหญ่ Fahrenheit ”   24 ส.ค. 50    


หากนับถึงมือกลองร็อกแถวหน้าในยุคนี้นั้น ต้องนับมือกลองท่านนี้เข้าไปอยู่ในรายชื่อ Top 5 อย่างแน่นอน เพียงแค่อัลบั้มชุดแรกในนามวง Loso ก็สามารถเปลี่ยนแปลงวงการเพลงไทยไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยสไตล์การเล่นที่หนักแน่นและขึ้นชื่อว่าตีมันส์คนหนึ่ง ครั้งนี้เราจะได้รู้จักกับเขามากขึ้นกับ “กิตติศักดิ์ โคตรคำ” หรือ “ใหญ่ Fahrenheit ”

fiogf49gjkf0d
ก่อนอื่นเรามาดู Setup ของพี่ ใหญ่ ก่อนนะครับ

fiogf49gjkf0d

fiogf49gjkf0d
DT : พี่เริ่มเล่นกลองได้ยังไงครับ ?
พี่ใหญ่ : เอ่อ..เอาตอนเด็กเลยนะ เท่าที่จำได้ที่หันมาชอบพวกจังหวะอะไรอย่างนี้ก็ซัก..ช่วงประถมอยู่เลย ก็ฟังคาราบาวมา ก็เคาะโต๊ะตามเรื่องตามราว แต่พอมาเล่นดนตรีจริงๆก็ตอนเล่นวงดุริยางค์ช่วงมัธยม ตอนนั้นยังไม่ได้เล่นกลอง แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ผมได้เล่นเครื่องดนตรีชิ้นอื่น เล่นเครื่องเป่า ครับ 2 –3 อย่าง แต่ในใจมันอยากตีกลองนะ แต่มันหากลองไม่ได้ พอเรียนตอน ม.1 เนี่ยะ ก็มีโอกาสได้ไปดูวงดนตรีวงนึง คือวง “นกแล” คือผมเป็นคนต่างจังหวัดนะ คนอุบลราชธานี พี่ก็ได้ไปดูวงนกแลเนี่ยะแหละ คือตามต่างจังหวัดเนี่ยะ การทำอะไรเช่น การเล่นดนตรี หรือการทำอะไรที่มันไม่ใช่ทั่วไปเนี่ยะ มันจะต้องโตนิดนึง ประมาณซัก ม.3 – ม.4 เนี่ยะ แต่พอมาดูวงนกแลก็เอ๊ะ!! มือกลองเขาตัวนิดเดียวแต่ตีกลองได้แล้ว ก็กลับมาถึงบ้านก็มาลองเคาะๆโต๊ะ ลองแยกประสาทดู แล้วก็บอกพ่อว่าอยากเล่นกลอง พ่อก็ไปร้านเครื่องดนตรี ก็ไปดูว่าไอ้กลองชุดมันทำงานยังไง แล้วเขาก็มาเอาไอ้กระป๋องสีมาทำ แล้วทำออกมาคล้ายเลยนะ ใช้หลักการเดียวกัน แต่เสียงไม่เหมือน (หัวเราะ) พี่ก็ใช้กลองชุดนั้นหัดมาตั้งแต่ม.1

DT : แล้วเรื่องการฝึก พี่ฝึกยังไงครับ ?
พี่ใหญ่ : ก็ทั่วไปเลย นักดนตรีสมัยโน้นก็ จะฝึกแบบมวยวัด ก็คือเล่นแบบไม่รู้จักโน็ตเพลงไม่รู้จักอะไร ก็ฟังเพลงแล้วก็แกะ แล้วก็อยู่พรสวรรค์แล้วแหละในตอนนั้น นักดนตรีสมัยนั้นอาศัยพรสวรรค์แล้วก็การฟังเป็นอย่างมาก มากกว่าสมัยนี้ด้วย เพราะว่าไม่มีแท็บ ไม่มีโน๊ต ไม่มีเบสิคสอนอะไรเลย ผมก็หลงเสน่ห์กับมัน แล้วก็ลองแกะเพลงของคาราบาว แกะแบบเป็นจริงเป็นจังเลยนะ ตอนนั้นก็ชุดอเมริโกย อะไรอย่างนี้ ก็แกะเพลงอืม.. ต่างขโมย เอ่อ..อเมริโกย อะไรอย่างนั้น ก็คาราบาวนั้นแหละครับ ก็ชอบแกะ คือเรานับอะไรไม่เป็นเลยอย่างที่บอก อาศัยจำเอาอย่างเดียว แต่คิดเอาอย่างเดียวคือเปิดเทปมา แล้วเล่นจบ ขึ้นพร้อมเขาจบพร้อมเขา ทุกอย่างทำได้เหมือนเขาหมด ก็คือมวยวัดนั้นแหละ นี่คือวิธีการตอนแรกๆที่พี่ฝึก แกะเพลง แต่ก่อนแกะต้องมานั่งหัดแยกประสาทซะก่อน ก็อย่างที่ผมบอกนั้นแหละครับว่าฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่รู้หรอกนะว่า ไอ้นี่คือ เบสดรัม ไอ้นี่เรียกว่าสแนร์ หรือทอม อะไรอย่างนี้ แต่!! เวลาเราฟังในเพลงแล้วเราได้ยินเนี้ยะ เราก็มาคิดเอาว่าไอ้นี่น่าจะเป็นสแนร์ ไอ้ที่ซอยอยู่ถี่ๆอย่างนี้ต้องเป็นไฮแฮทแน่นอน เสียงตุ้งๆ ก็น่าจะเป็นทอมอะไรอย่างนี้ ก็เรียนจากตัวเองซะเยอะเลย แทบไม่มีใครบอกอะไรเลย

DT : ช่วงแรกนี่นอกจากคาราบาวแล้วมีเพลงอื่นที่แกะหรือเปล่าครับ ?
พี่ใหญ่ : ก็มีเพลงอื่นๆด้วย แต่คาราบาวนี่คือดังสุดๆ แล้วพอเล่นไปซักพักนึง ก็ยังไม่มีวงเป็นของตัวเองซักที แล้วมีเพื่อนที่อยู่ในห้อง แล้วพอดีที่โรงเรียนเขาให้ทำวงไปเล่น คือเหมือนเป็นตัวแทนของห้องอะไรอย่างนี้ ไปเล่นงานสัปดาห์ดนตรีของโรงเรียน ตอนนั้นพี่อยู่ม.2 นะครับ วงของเพื่อนพี่คนนึงที่เรียนด้วยกัน เขาเป็นหัวหน้าวงอยู่ แล้วก็มือกลองคนนั้นมันตีไม่ได้ เขาก็อยากจะเปลี่ยน แล้วเขาก็เป็นเพื่อนพี่ พี่ก็เลยบอกว่า เฮ้ย!! ให้เราลองดูเปล่า เขาเองก็งงๆ ก็ถามเราว่า มึงตีเป็นเหรอ !! เขาก็เลยให้เพลงพี่มาประมาณ 4 –5 เพลงอะไรอย่างนี้ ตอนนั้นมีไมโครด้วย ชุดแรก มีคาราบาวอะไรพวกนี้ แล้วก็มีเพลงฝรั่ง พวก อืม.. girl you are my love แล้วก็พวกวงเฉลียง ประมาณนี้

DT : แต่ยังไม่ถึงกับเป็นพวกฮาร์ดร็อก?
พี่ใหญ่ : โอ้ !! ไม่ๆ ไม่เลยก็เป็นเพลงป็อปทั่วๆไป ธรรมดาเนี่ยะแหละ ก็เข้าวงครั้งแรกก็ไปแกะเพลงมา แล้วเข้าห้องซ้อมครั้งแรกเนี่ยะยังจำบรรยากาศได้อยู่เลย เฮ้ย!! กลองจริงๆมันเป็นแบบนี้เหรอวะ แล้วเข้าไปห้องแอร์ ซึ่งเราก็ไม่เคยเข้าไปอยู่แล้วไอ้ห้องแอร์ แล้วก็ชั่วโมงละ 40 –50 บาท ก็เข้าไปซ้อมกัน พอลองปุ๊ป ก็ตีได้นี่หว่า ตีได้เลย !! แต่ตอนนั้นเราก็แค่ก็อบปี้ให้มันเหมือนอย่างเดียว แต่ไม่รู้หรอก นับบาร์ยังไม่เป็นเลย แต่ว่า โอเค !!เราเป็นคนฟังเพลงเยอะมาตั้งแต่เด็ก ก็เรียกว่าฟิลลิ่งมันได้ คือความรู้สึกที่เล่นตรงนี้ปุ๊ป มันยังไม่ครบ คือเล่นดนตรีมันจะเป็นชุดไง แบบ 8 บาร์ส่ง เข้าฮุคอะไรก็ว่าไป เราไม่รู้หรอกว่าเขาเรียกว่ายังไง ว่ากี่บาร์ กี่ห้อง แต่ความรู้สึกมันบอกว่ามันน่าจะประมาณนี้ ก็ซ้อมกับเพื่อนที่นั่น ตอนม.2 เอ่อ พอขึ้น ม.3 ก็มีห้องซ้อม คือ ในจังหวัดอุบลเนี่ยะจะมีนักดนตรีเยอะมาก จะมีห้องซ้อมอยู่ที่นึง คือเขาเป็นร้านเครื่องเช่า เขาก็จะพยายามปั้นเด็กใหม่ๆ พี่คนเนี่ยะเขาชื่อ “พี่ป่อง” นะ ชื่อห้องซ้อมว่า “เทอร์โบ” ผมนึกถึงเขาอยู่เสมอเลยนะ เพราะว่า เขาถือว่ามีบุญคุณกับผมเลยนะ มากเลยในเรื่องดนตรี คือคนอื่นๆจะบอกว่าคนนี้ สติเฟื่อง เพราะเขาเป็นฮิปปี้เก่า เรียนเป็นพวกช่างอิเล็กทรอนิกซ์ ช่างไฟ พอเขาต้องทำงาน แล้วช่วงนั้นเขานิยมไปทำงานในแถบตะวันออกกลาง เขาก็ไปทำงานที่ซาอุ เพื่อที่จะเก็บตังค์นะ แล้วซื้อพวกแผ่นเสียง เครื่องเสียงเอากลับมาเมืองไทย คือเขาบ้าเลยนะพี่คนนี้ เล่นดนตรีด้วย เล่นกีต้าร์ เขาก็มาเปิดห้องซ้อม คืออย่างที่บ้านเนี่ยะก็จะมีพวกเด็กดมกาวอะไรอย่างนี้ พอเด็กพวกนี้เดินผ่าน เขาก็จะแบบ เฮ้ย!! มึงมาช่วยกูยกของหน่อยซิ แล้วแกเองก็จะเหมือนกับพวกนักช่วยเหลือสังคมด้วย แกจะให้โอกาสคน คือไม่ได้ติดเรื่องรูปลักษณ์ พี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็ไปขอซ้อมกลอง เขาก็โอเคแต่ต้องไปช่วยเขายกของ

DT : จุดนี้พี่เลยได้มาซ้อมกลองเป็นจริงเป็นจัง ?
พี่ใหญ่ : ใช่ !! มาถึงก็ได้ตีเต็มที่เลย แต่ตอนนั้นก็ยังเรียนหนังสืออยู่นะ แต่เวลาเลิกเรียนผมก็จะมาคลุกอยู่ที่นี่ เวลามีงานผมก็ยกเครื่อง ตั้งเครื่องให้เขา แล้วก็ทำวงกับเพื่ออยู่ในห้องซ้อมนี้

DT : คือเป็นวงที่แบบเล่นกันจริงจังเลย ?
พี่ใหญ่ : ครับ ก็ซ้อมกันที่นี่

DT : ซ้อมเพลงใครบ้างครับพี่?
พี่ใหญ่ : ตอนนั้นก็มีไมโคร อืม..พี่ป้อมเขาก็ออกอัลบั้มแล้วนะ อัลบั้มผักชีโรยหน้า ที่เขาดังๆเลย ผมก็เล่นเลย ก็พวกก็เคยสัญญา ไมโครก็เล่นชุด หมื่นฟาเรนไฮต์

DT : เน้นไปที่ซ้อมเพลงร็อกมากขึ้น ?
พี่ใหญ่ : อืม..ใช่ จริงๆพื้นฐานของดนตรีไทยเนี่ยะ ที่เขารับได้มันคือ ”ร็อก” นะ แต่ว่าจะใส่ความเป็นตัวเองมากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง อย่างคาราบาวเนี่ยะเขาเป็นเพื่อชีวิตใช่ไหม แต่ดนตรีเขาเป็นร็อกเลย พี่ป้อมก็จะแบบจิ๊กโก๋หน่อยอะไรอย่างนี้ สมัยก่อนผมว่าดนตรีชัดเจนมาก เพราะว่าการจะได้เป็นศิลปินได้ออกเทปเนี่ยะนะ เอาแค่เล่นประจำยังเป็นเรื่องยากเลยนะ คือมันต้องใช่จริงๆเลยนะ แล้วยิ่งมาออกเทปนี่ โอ้โห!! ยิ่งยากมากๆเลย แต่พอออกมาปุ๊ปคนจะจำได้เลย แต่ศิลปินสมัยนี้ใครเป็นใครเราแทบไม่รู้นะ เพราะมันไม่มีความโดดเด่นในเรื่องของงาน มันก็ไม่เท่าไหร่นะในความรู้สึกของผม แล้วยิ่งในเรื่องของอุดมการณ์เนี่ยะแทบจะไม่มี มันน้อยมากเลยนะ นักดนตรีสมัยก่อนนะ อย่างพี่แอ็ด คาราบาวก็ได้ พี่หงา พี่ป้อมเขาก็มีของเขา พี่เต๋อ เขาก็พัฒนาวงการเพลงให้ดีขึ้น ก็มีแนวทางของเขา ต้องทำเพลงออกมาให้ดี มีความสวยงามและจับต้องได้ ไม่ใช่ว่าเอาเพลงฝรั่งมาแล้วเปลี่ยนเป็นเนื้อไทยอย่างสมัยโน้น

fiogf49gjkf0d
DT : แล้วพี่เริ่มหัดกลองแบบจริงจัง เอาตอนไหนครับ?
พี่ใหญ่ : ก็ผมก็ยังเริ่มต้นเล่นเรื่อยๆนะในห้องซ้อมนี้ แล้วก็ข้ามมาเรียนปวช.

DT : แต่ก็ยังเป็นวงนี้?
พี่ใหญ่ : ใช่ อยู่ที่นี้ก็เล่นกันมาประมาณ 3 ปี พอผมมาเรียนปวช. เรียนช่างก่อสร้าง ด้วยความที่โตขึ้น เรียนยากขึ้น มันก็ทำให้การแบ่งเวลาของเรามันลำบากขึ้น มันเหมือนว่าอยากจะเลิกเล่นแล้วนะ เพราะมันเรียนเยอะมากเลย แต่เวลาที่เราเห็นวงดนตรีเราก็อยากเล่นนะ แต่ก็มีเล่นบ้างนะแบบรับงาน แต่ไม่ได้เล่นประจำ พอดีมีวงดนตรีอยู่วงนึง เขาเป็นทหาร เป็นทหารบกนะ เขาก็เล่นอยู่ที่ผับชื่อ “Nevada” ที่อุบล ก็ขาดมือกลองพอดี เขาก็เคยเห็นพี่ตีมาบ้าง คือนักดนตรีที่อุบลเนี่ยะมันเยอะมากเลยนะ แล้วเขาก็จะดูกันว่าใครมันเริ่มจะเป็นดาวรุ่งขึ้นมา เขาก็มาทาบทามว่าอยากเล่นประจำหรือเปล่า พี่ให้เงินเดือน 5,500 นะ พี่ก็บอกเลยว่าผมไม่รู้อะไรซักอย่างเลยนะ นับบาร์นับจังหวะอะไร ผมไม่รู้จักเลยนะ แกะเพลงได้อย่างเดียว เขาก็บอกไม่เป็นไรเดี๋ยวมาฝึกได้ พี่ก็เลยตกลงไปเล่นกับเขา

DT : เป็นการเล่นอาชีพและก็ยังเรียนหนังสืออยู่ ?
พี่ใหญ่ : ใช่ครับ เรียนปวช.อยู่

DT : ช่วงนี้ก็เริ่มที่เรียนกลองเป็นจริงเป็นจัง ?
พี่ใหญ่ : ใช่ครับ ก็อ่านโน็ต ว่าอะไรคือตัวดำ ตัวขาว อะไรคือตัวหยุดต่างๆนาๆ อัตราส่วนโน็ตต่างๆ ก็มาเรียนตอนนี้ 3 เดือนแรกจะขอลาออกเลย (หัวเราะ ) เพราะมันทำไม่ได้ซักที มันเป็นสิบๆครั้งที่ทำไม่ได้ ก็บอกเขาว่า พี่ผมทำไม่ไหวครับ เพราะเล่นไปมันก็พาเขาล่มตลอด (หัวเราะ) เขาเล่นเป็นวงแบ็คอัพกัน เขาไม่ใช่เป็นวงแบบ เฮ้ยไปแกะเพลงมาเล่นกัน มันไม่ใช่ เขาเป็นข้าราชการ นักร้องนี่แจกโน็ตอย่างเดียว แล้วเราแกะเพลงอย่างนี้ไม่ไหว

DT : เพลงที่เล่นคือเพลงอะไรบ้างครับ ?
พี่ใหญ่ : โห!! เยอะมาก ก็มีเพลงฝรั่งนะ เพลงฝรั่งเก่าๆ แล้วตอนนั้นเบื่อมาก ก็คิดว่าชีวิตเราทำไมมันเป็นอย่างนี้วะ !! จะเล่นทั้งที ทำไมไม่เล่นมันส์ๆไปเลยวะ ทำไมต้องเล่นเพลงของครูเอื้อ เพลงลูกทุ่ง หมอลำ ทุกอย่างเลย เพลงผู้หญิง ผู้ชาย เยอะมาก แต่จริงๆแล้วไอ้ตรงนั้นแหละคือสิ่งที่ทำให้เราก้าวมายืนอยู่ถึงทุกวันนี้ เราได้รู้จักเพลงที่หลากหลายมาก ได้รู้จักสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างเพลงของก้าน แก้วสุพรรณ แล้วก็โน็ตเป็นยังไง ทฤษฎีดนตรีเป็นยังไง ซึ่งรุ่นพี่คนเนี๊ยะ ชื่อพี่หน่อง ต้องถือว่าเป็นอาจารย์ผมเลยนะ เป็นอาจารย์คนที่ 2 ต่อจากพี่ป่องที่อยู่ห้องซ้อมตอนนั้นเลยนะ แต่คนนี้แบบเจ๋งมาก คือทุกอย่างที่เป็นพี่ทุกวันนี้ วิธีคิดอะไรต่างๆก็ได้มาจากเขานั้นแหละ

DT : แล้วพี่มีวิธีแบ่งเวลาซ้อมยังไง เพราะยังต้องเรียนหนังสือไปด้วย ?
พี่ใหญ่ : ตอนแรกเลยที่เรียน มันต้องมีช่วงพักอยู่ แล้ววิทยาลัยเทคนิคมันก็อยู่ใกล้ๆกับที่เล่น แล้วในตอนกลางคืนก่อนนั้นพี่จะบอกนักร้องว่า อย่างเพิ่งเอาโน็ตกลับ ในเพลงนั้นๆพี่จะขอไว้ดูหน่อย พี่ก็มาดูในช่วงตอนกลางวัน แล้วก็มานั่งซ้อม คือทุกอย่างมีหมด ผ่านร้อนผ่านหนาว สุขทุกข์ ครบหมด บางทีหัวหน้าวงเขาก็ดุด้วย แบบ เฮ้ย!! มึง แค่นี้เล่นไม่ได้เหรอวะ!! มันก็โหพี่ งั้นผมขอลาออกดีกว่า เขาก็มาปลอบนะ ก็บอกเดี๋ยวก็ได้ พี่ก็อย่างนี้ถูลู่ถูกังกันมาเรื่อย พอเล่นมาซักปีนึงมันก็เริ่มได้ อ่านโน๊ตก็ไม่ติดอะไรแล้ว สรุปก็ประมาณสองปีพี่ก็เป็นนักดนตรีที่รู้ทฤษฎีแล้ว (หัวเราะ) พอสองปีนี้เราได้หมดเลย แล้วเราเล่นทุกสไตล์นะ ลีลาส,รำวง เล่นในห้องบอลลูมนะ กางโน๊ตแล้วเล่นเลย สมัยก่อนเนี่ยะ เล่นสดนะ ไม่มีการเปิดเทป

DT : แล้วกับการฝึก พี่มีแบ่งเวลาซ้อมหรือเปล่าครับ ?
พี่ใหญ่ : อืม..มาถึงเรื่องการฝึก เรื่องเทคนิค เออ.. จนกระทั่งผมเข้ามาอยู่ในกรุงเทพเนี่ยะ พี่แทบไม่ได้ฝึกเลย หมายถึงฝึกเทคนิคนะ แต่ก็ยังฟังเพลงแกะเพลง และพยายามดูว่าไอ้ลูกแบบนี้มันตียังไง มันก็ถูกบ้างผิดบ้าง เพราะเมื่อก่อนมันยากมากในการจะหาแท็ปหรือหนังสือ เรียกว่าเป็นการซ้อมดีกว่า ถ้าในตอนนั้นอาจเรียกได้ว่า เล่นได้แค่ single stroke และ double stroke เท่านั้นเอง นี่แหละที่ผมจะซ้อมได้ อ๋อ!! แล้วก็เล่นแบบ roll แล้วก็เล่นอาชีพอยู่ตั้งแต่ปี 32 –35 หรือ 36 ก็ประมาณ 4 ปี ก็มีเพื่อนคนนึงเล่นประจำอยู่ที่จันทบุรี เขาก็โทรมาชวนไปเล่นที่นั้นไหม ก็คิดอยู่นานนะ ก็เลยไปลุยดู คิดไปคิดมาเราก็กลายเป็นนักดนตรีอาชีพไปแล้ว แต่เรื่องเรียนเราก็รักนะ พยายามแบ่งเวลาแล้วก็เรียนไปด้วยนะ แต่มาจุดนึงที่คนเรามันต้องเลือกก็ไม่เรียนต่อแล้ว ผมก็เลยบอกพ่อว่า ผมจะไปแล้ว ก็ลองมาเป็นนักดนตรีเต็มตัวเลย ก็ไปอยู่ที่จันทบุรี ก็เล่นมาเรื่อยๆ วนเวียนอยู่แถวๆนี้แหละ จันทบุรี ,นครสวรรค์ แล้วก็มาเล่นที่ลำปาง เอ่อๆ !… แล้วตอนที่อยู่นครสวรรค์ ผมก็เจอกับ เสกนะครับ ประมาณปี 36 แล้วตอนนั้นวงผมเขาแล้วเสกเขาเล่นอยู่อีกร้านนึง ก็เลยไปชวนเขามาเล่นด้วย เพราะวงเขาเองก็แย่ๆ ผมก็ไปชวนเขามา ก็เล่นด้วยกันมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ไปเล่นลำปาง ก็ไปได้ดีมาก เมื่อปี 37 อย่างนึงคือผมกับเสกเนี่ยะจะมีนิสัยคล้ายๆกันอยู่ คือ “พยายามที่จะคิดว่า พอหมดสเต็ปนี้ แล้วก้าวต่อไปจะเป็นอะไรต่อ” ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นๆ ตอนเล่นอยู่ลำปาง ได้ขนาดนี้มันก็ดีมากๆแล้ว การที่เขาจ้าง เงินเดือนก็ดีเลยนะ แล้วเจ้าของร้านแบบรักเรามาก แบบใครจะออก ออกได้เลยยกเว้นมือกลองมือกีต้าร์ จะทำวงมาเล่นยังไงก็ได้เลย แต่เราก็ขอออกมาเพื่อมาลุยเล่นที่กรุงเทพ นั้นคือสเต็ปต่อไป ก็วางไว้ว่าต้องเล่นในกรุงเทพ ต้องมาเป็นแบ็คอัพในค่าย Grammy หรือ RS ก็ว่าไป แล้วก็มาทำเพลงเป็นของตัวเอง ผมวางสเต็ปกันอย่างนี้ครับ

DT : ตอนนั้นเล่นเป็นวงยังไงครับ ?
พี่ใหญ่ : เป็นวงใหญ่เลย เล่นประจำ มีคีย์บอร์ด มีแดนเซอร์ ก็เล่นเพลงทั่วไปเลย เล่นเอาใจแขกอย่างเดียวเลย แล้วไอ้ดนตรีที่ผมฟังเนี่ยะ ผมมาเริ่มจำแนกแนวว่าผมชอบสไตล์ไหน ก็ตั้งแต่ตอนที่ผมเล่นประจำเนี่ยะแหละครับ ก็มาตามยุคเลย Metallica , Gun’s & Roses วงแถวๆนั้น Bon Jovi ,Van Halen ก็ฟังแล้วชอบๆ

DT : แล้วช่วงนั้นพี่หาฟังเพลงพวกนี้ลำบากไหมครับ ตอนอยู่ที่นั้น?
พี่ใหญ่ : ไม่ๆ!! ไม่ลำบากเลยนะ มันมีร้านเทปร้านนึงที่อุบล เป็นร้านเทปที่แนวมากๆ เจ๋งเลยร้านนี้ แต่มันก็เป็นตรา Peacock นะ (หัวเราะ) เพราะของแท้มันไม่มีขาย แล้วก็เรียนรู้จากตรงนั้น ว่าเราชอบร็อก ก็อย่างที่ผมบอกเลยไงว่า คนไทยเนี่ยะ ยังไงก็ต้องร็อก เจ๋งที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ โดยอย่างวัฒนธรรมอะไรก็ด้วยนะ อย่างคนอีสานเนี่ยะเขาก็จะมีดนตรี หมอลำ เนื้อหาที่หมอลำเขาจะพูดเนี่ยะ มันทุกข์ยาก ลำบากมากเลยนะ ข้าวไม่มีจะกิน ฝนไม่ตก ทำนาไม่ได้ แต่!! ดนตรีมันต้องสนุก

DT : ไม่ต่างกับพวกเร็กเก้ ?
พี่ใหญ่ : ใช่ๆ อะไรอย่างนั้น หรือพวก ฮิพฮอพก็ด้วยนะ มันเป็นดนตรีที่มีความกดดัน ซึ่งมันก็น่าจะเหมาะกับร็อกนั้นแหละ

DT : แล้วตอนที่พี่กับพี่เสกมากรุงเทพ พี่..
พี่ใหญ่ : เริ่มต้นยังไงใช่ไหม

DT : ครับ เพราะมันเหมือน มันมืดไปหมด ?
พี่ใหญ่ : ก็เริ่มหางาน ผมก็มาพักอยู่กับเพื่อนนะ หางานไปเรื่อยๆ 2 – 3 เดือนมันก็ยังไม่มีงาน เงินที่เอามาก็จะหมด แต่เสกเขาได้งานที่นึง เล่นกับวงที่ชื่อ Cannon เล่น 4-5 ทีเลยนะ แต่เราก็ยังจะต้องเล่นด้วยกันนะ แต่ตอนนี้แบบกูต้องไปก่อน (หัวเราะ) ผมเองนะ ตกงานอยู่นานมาก ประมาณ 4 เดือนได้ อยู่ได้ยังไงก็ไม่รู้นะ มีตังค์มาหมื่นกว่าบาทเองจากลำปาง มาอยู่กับเพื่อน 2 เดือนก็ไม่เสียค่าเช่า ก็มีช่วยเขานิดหน่อย ก็ต้องประหยัดๆหน่อย พอช่วงเดือนที่ 3 ก็มีวงนึงเขาแตกพอดี แต่มีพี่ในวงนี้คนนึงเขาหางานเก่ง เขาก็ชวนให้ไปอยู่กับเขา ก็ตกงานอีก 2 เดือน เพราะต้องใช้เวลาซ้อมวง ต้องทำทีมใหม่หมดเลย ผมก็เรียกเสกกลับมา ใช้ชื่อวงว่า Opera ก็เล่นที่ ฟีบัส ตรงรัชดา แล้วก็โรงแรมเอเชีย แล้วก็โคล่า ตรงปากซอยทองหล่อฝั่งสุขุมวิทนะ แต่ช่วงตอนตกงานเนี่ยะ พี่ก็ตระเวณดูตามร้านต่างๆเลยนะว่าเขาเล่นยังไง ก็ดูเสร็จเราก็แบบ เฮ้ย! ถ้าทำอย่างที่เราคิดๆไว้ ตอนนี้ เราไม่ไหวแน่ๆ เราสู้ไม่ได้ สู้เด็กกรุงเทพไม่ได้เลย คือ ฟิลลิ่งเนี่ยะเราดูรู้เลยว่า บางคนเนี่ยะเขาตีไม่มันส์หรอกไม่ร็อกเลย เราร็อกกว่า แต่เขามีเทคนิคไง บางลูกที่เราไม่เคยได้ยินเลยนะ โห!! มันตีได้ยังไงวะ (หัวเราะ) แล้วผมก็ไปร้าน Rex ไปซื้อตำราซื้อแท็ปเพื่อมาฝึกแบบเป็นจริงเป็นจังเลยนะ ซื้อมาเยอะมาก ก็มี Chad Smith วง Red Hot Chilli Peppers แล้วก็ Pat Torpey วง Mr.Big เอ่อ แล้วก็ Dave Weckl ,Steve Gadd แล้วก็อีกหลายคนเลยนะ

DT : คือพี่อยู่ที่ห้องแล้วก็ซ้อม ?
พี่ใหญ่ : ผมก็ฝึกกับแป้นยาง ก็ซ้อม single stroke อย่าอะไรเลย Double Stork ยังไม่เนียนเลย มันยังไม่เสถียน เราเลยต้องมาฝึกไง ฝึกไปเลยๆก็ได้ประมาณจนถึง paradiddle เรียกว่ามีเบสิคบ้างแล้ว และก็ฝึกพวกกรู๊ป เเพทเทิร์น

DT : และในระหว่างพี่กับพี่เสกก็เริ่มเขียนเพลงกันเลยๆใช่ไหมครับ?
พี่ใหญ่ : ถ้าเท้าความ คือที่บอกว่ามักจะต้องคิดอยู่ตลอด ประมาณว่า “กูต้องดัง” และตอนนั้นก็เปลี่ยนโลกทัศน์ของผมไปเลย คือก่อนหน้านั้นมันยังติดอยู่ที่ทุนเราน้อย เราอาจจะพัฒนาเล่นแล้วเจ๋งมากแต่รูปร่างหน้าตาเสกกับผมเราไม่ได้ เส้นสายไม่มี ตอแหลก็ไม่เก่ง เป็นนักแสดงก็ไม่ได้ (หัวเราะ) ดูแล้วมันยากมากก็เลยคิดว่าเป็นแค่แบ็คอัพก็แล้วกัน แต่พอตอนนั้นอเมริกามี Nirvana ออกมา พอเห็นปุ๊ป!! นี่กูเมืองไทยเลยนี่หว่า (หัวเราะ) Nirvana เมืองไทยก็เป็นเรานี่หว่า และนั้นหละเราก็รู้ตัวแล้วว่า สิ่งที่เราพูดงานของเราดนตรีเราต้องดิบ การพูดก็ต้องไม่สูงเกินไปต้องพูดระดับชาวบ้าน การพูดของเราเหมือนยูนิตเล็กๆ ของคาราบาว จะพูดไม่หยาบคาย เหมือนกับพูดแบบคาราบาว พูดแบบบ้านๆ มีเรื่องรัก เรื่องสังคมบ้างแต่ไม่จัด ไม่มีการเมืองไม่งั้นจะไปทับกับพี่แอ๊ดเค้า แล้วเสกก็เริ่มเขียน พอมาอยู่กรุงเทพ มีงานประจำทำกัน พอทุกอย่างลงตัว ผมก็ย้ายมาอยู่อพาร์ทเม้นติดกัน ตอนแรกผมอยู่กับเพื่อน เสกเค้าก็อยู่กับวงเค้าอีกที่หนึ่ง พออยู่วงเดียวกันผมก็ย้ายมาอยู่ห้องแถวรัชดาห้องติดกัน พอเพลงเสร็จ เสกเขียนเพลงได้ก็มาเรียกผมแล้วมานั่งคุยกัน

fiogf49gjkf0d
DT : แล้วพอเริ่มมาเป็นวงโลโซการทำเพลงพี่กำหนดรูปแบบกลองของพี่อย่างไร ว่าเพลงต้องใส่แบบนี้มีอะไรเป็นตัวกำหนดบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : เมื่อก่อทนเนี่ยะ ผมไม่สามารถจำกัดความในสิ่งที่เขียนได้ ก็คือคิดได้จากประสบการณ์ ผมจะเล่นเพลงก็เพื่อที่จะให้มันสนุก เศร้ามันต้องเบาแค่นี้หนักแค่นี้ คือมันเป็นทฤษฎีที่ถูกนะแต่เราไม่รู้หรอก ฝรั่งเค้าเรียกว่า “เล่นเพื่อเพลง เล่นเพื่อวง ไม่เล่นเพื่อตัวเอง” การเล่นดนตรีเนี่ยสำคัญที่สุด ที่ต้องคิดเลย คือต้องเล่นเพื่อวง เพื่อวงเสร็จเราต้องเล่นเพื่อเพลง ทำยังไงก็ได้เล่นเพลงนี้แล้วให้คนฟังได้รับรู้เข้าไปเต็มที่สุดนะครับ ในทุกชิ้นดนตรีรวมทั้งการร้องนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ

DT : หลายๆคนคงรู้แล้วว่าพี่เข้ามาบริษัทแกรมมี่ยังไง?
พี่ใหญ่ : ครับ

DT : แล้วเวลาเข้าห้องอัด พี่มีปัญหากับเสียงติ๊ก ต๊อก หรือเปล่าครับ?
พี่ใหญ่ : สำหรับผมตอนที่เล่นประจำอยู่ ที่เล่นต่างจังหวัดที่บอกออกจากขบวนมา เคยใช้ซีเควนเซอร์มาแล้ว ที่มีติ๊ก ต๊อกในหู ผมก็ใช้มาตลอด จนชินมาแล้ว มันไม่มีเรื่องยากเลยในเรื่องการอัด มันแค่หาความพอดีตรงไหน สำหรับผมนะ ตอนที่ทำเพลงทำอะไร ผมจะพยายามคิดอยู่ตลอดว่าอย่างชุดแรก เพลง”คุณเธอ” ประมาณนี้ ถ้าใส่อย่างนี้มากไปไหม ถ้าอย่างนี้มันน้อยอยู่หรือเปล่าผมพยายาม อย่างเพลง “โลโซ” ก็คือนำเสนอแบบดิบแต่รับง่าย ไม่ใช่ดิบแล้วเถื่อน ต้องดิบ ดิบแล้วเด็กฟัง ชาวนา มอเตอร์ไซด์รับจ้างฟัง ถ้ากูไม่เป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง กูอยากเป็นเหมือนพี่เสกเว้ย !!

DT : คือทุกอย่างจับต้องได้ ?
พี่ใหญ่ : ใช่ !! ทุกอย่างจับต้องได้ สังเกตกลองผม ผมก็จะตีไม่มาก แต่มันฟังดีนะ จากที่หลายคนเคยบอกผม ก็เค้ารู้ตีแบบนี้เพื่อให้เพลงมันเป็นแบบนั้น แต่เวลาเล่นคอนเสิร์ตเราก็อยากเห็น เพลงที่มีโซโล่ เพลงที่มีอะไรยากๆ อย่างที่เราอยากเล่น อยากฟังด้วย

DT : พอวงโลโซออกมาชุดแรก มันประสบความสำเร็จมาก?
พี่ใหญ่ : ดังเปรี้ยงเลย

DT : พี่กลายเป็นนักดนตรีที่หลายๆคนจับตา เป็นมือกลองที่ตีหนัก ตีมันส์ พี่ต้องมีวิธีที่ต้องซ้อมหนักอย่างไงบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : มันก็เป็นตรรกะนะ ก็เหมือนว่าเราติดทีมชาติ มันต้องซ้อม วิธีการซ้อมก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปเยอะ พอเรารู้ว่าเพลงเราเสร็จเพลงเราจะอัดแล้ว ก็คืออย่างที่บอก เอ๊ะลูกตรงนี้น้อยไป ลูกนี้มากไป มันพอดีหรือเปล่า แล้วฟังเปรียบเทียบฟังเพลงฝรั่งบ้าง มันน่าจะประมาณไหน Loso ชุดแรกนะ ประมาณว่า Nirvana บวกกับ Green Day เป็นเทรนด์ของตอนนั้น แต่ไอ้เรื่องสิ่งที่เราพูด มันเป็นเรื่องราวมันเป็นภาษาของเรา ทิศทางดนตรีโทนของมันก็ประมาณนั้น ผมก็พยายามรักษา คือคิดเองนะแต่มันก็ถูกนะ แต่ตอนนั้นมันก็ไม่มีใครบอก แล้วถ้าออกไปเล่นในผับเนี่ยะ เพลงมันประมาณนี้ก็โอเคอยู่แล้ว ถ้าใส่ยากเกินไปเนี่ยะ มันจะไม่มีเสน่ห์

DT : แสดงว่าตอนที่พี่ออกเทปพี่คิดถึงตอนเล่นสดตลอด?
พี่ใหญ่ : ใช่ครับ !! นึกถึงว่าคนฟังนึกถึงยังไง เวลาไปเล่นเนี่ยะมันจับต้องได้ง่าย คือมันไม่ใช่ว่าผมจะชอบเล่นอะไรง่ายนะ แต่มันเป็นโลโซ มันมีเอกลักษณ์ของมัน แต่ถ้าให้ผมเล่นจริงๆผมก็เล่นได้ แต่ไม่ใช่วิธีการนำเสนองานของตัวเอง ถ้าสร้างงานตัวเองก็อีกแบบหนึ่ง บางคนเล่นอยู่ในวงที่เป็นวงตัวเองอย่าง John Frusciante วง Red Hot เล่นในวงของเค้าเองเนี่ย เค้าจะมีฟังค์กี้ จะมีออกฮาร์ดร๊อคนิดๆ พอเค้าทำงานเดี่ยวเขาจะเป็นอีกอย่างหนึ่งแบบหลอนๆ เป็นแบบไซเคอร์เดอริก

DT : พอหลังจากชุดแรกออกมา งานต่อไปที่ยากอีกอย่างหนึ่งคือต้องทำให้ดีกว่าเก่า พี่ต้องคิดเยอะมากหรือเปล่าครับว่าต้องให้งานมันละเอียดกว่าเก่า พี่ต้องคิดอะไรเพิ่มเติมบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : ใช่ !! ก็หนักสุดก็คงเป็นเสกแล้วตอนนั้น เหมือนกับว่าได้กลุ่มได้คนที่ศรัทธาเราแล้ว เสกก็พยายามซื้อใจคนกลุ่มนี้และคนที่เข้ามาใหม่ เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าใครจะเป็นแฟนเพลงเรา เรารู้แต่ว่าเราต้องทำเพลงอย่างนี้ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเด็กอนุบาลก็ชอบเรา และตอนนั้นก็ตรงกับยุคไอเอ็มเอฟพอดี เราเลยทำโทนของเพลงให้มันดิบน้อยลงอีกนิดหนึ่ง ให้มันง่ายขึ้นไปอีกให้มันง่ายเลย แต่เพลงยากๆก็มี ในส่วนของเรื่องราว เสกเค้าจะต้องคิดว่าทำอย่างไรที่เอาคนให้อยู่

DT : แล้วในส่วนไลด์ของกลองหล่ะครับ ?
พี่ใหญ่ : ก็คือต้องมีอะไรมากขึ้น ชุดเอ็นเตอร์เทนเมนท์ก็มีอะไรมากขึ้นด้วย หมายถึงว่ามี จังหวะที่มันแปลกๆขึ้นมาหน่อย อย่างเช่นเพลง “เงิน” แต่โดยรวมมันก็เหมือนชุดสองนะแต่เป็นชุดที่ดังที่สุด ขายดีที่สุดของวงร็อคตั้งแต่แกรมมี่เปิดมา แต่ผมมองว่าชุดนี้มันก็มาตามความสำเร็จ เหมือนมันตรงเผ็งเลย พวกดนตรีมันก็เนียนขึ้นแต่ยังไม่ลงตัวมาก

DT : แล้วไหนของโลโซทั้งหมด เพลงที่พี่คิดว่าคิดยากมากที่สุดครับ และภูมิใจนำเสนอมากที่สุดครับ?
พี่ใหญ่ : ถ้าคิดยากมันยากจะไม่ยาก ที่ชอบมากเพราะว่าผมมีมือกลองในดวงใจหลายคนครับ Dave Grohl เลยคนแรก ก่อนหน้านั้นก็เป็น Lars Ulrich และก็ John Bonham พอไปถึงชุดที่ 3 ไปชุดที่ 4 คือ Rock & Roll แล้วก็ Loso Land ผมเริ่มคิดถึงเรื่องพวกนี้มากขึ้น หมายถึงไอเดีย ผมมีความรู้สึกว่าแฟนเพลงเค้าซื้อเราแล้ว แต่เราก็ไม่ได้ทำเพลงห่วยๆนะ เราทำไปโดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงว่าอยากดังแล้ว ผมก็เริ่มใส่อะไรเยอะมากตั้งแต่ชุด Rock & Roll มาเลยนะ เยอะเหมือนกันชุดนั้น แต่จะชอบมากที่สุดคือชุด Loso Land จะเห็นเลยว่าชุดนี้ไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อว่า โดนใจจิ๊กโก๋ไม่มี คือเริ่มเข้มเลยในชุดนี้ Loso Land เป็นชุดที่ผมชอบดนตรีมากที่สุด ลงตัวที่สุดในเรื่องของซาวด์ เรื่องของอะไร ส่วนเพลงที่ชอบอีกเพลงหนึ่งคือ เข้ามาเลย เพลงนี้เป็นเพลงเร็ว เพลงนี้ถือว่าเป็นเพลงที่ผมชอบที่สุด ก็คือบ้า Metallica มากและก็ช่วงนั้นก็เลยหาทางออก (หัวเราะ)

DT : หลังจากที่ Loso แตก แล้วจะต้องเล่นเป็นวงฟาเรนไฮด์ วิธีคิดของพี่กับสไตล์การเล่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างครับ ?
พี่ใหญ่ : สำหรับเรื่องของกลองวิธีคิดคงไม่ต่างมาก แต่อย่างที่ เหมือนเราอยู่ลิเวอร์พูล อยู่แมนยูเนี่ย เราแบบปี๊ดมากๆเลย แล้วพี่เป็น back มันก็ค่อนข้างจะลงตัวเข้ากันได้ และพี่รู้ว่าใครจะจบสกอร์ มันชัดเจนมาก ตอนนี้เราย้ายมาอยู่ทีมเล็ก อยู่ท้ายตาราง มันเป็นเรื่องการที่ว่าต้องมีความลงตัวด้วย แต่วิธีคิดเวลาทำเพลงของผมเหมือนเดิมนะ แต่บางทีผมก็ทำไม่ได้ไง เป็นนักร้องผู้หญิงจะให้ผมใส่สองกระเดื่องเยอะๆเนี่ยมันไม่ได้ ใส่ลูกขัดมากก็ไม่ได้ เพราะว่าเพลงมันไม่ใช่เป็นโมเดิร์นเหมือนซิลลี่ฟูล เหมือนวงอื่น สมมุติถ้าเราอยากให้โมเดิร์นจริงแต่แนวทางของผมจะไม่ทำอย่างนั้น แต่เวลาพูดมันต้องใช่ไง คืออย่างโต ซิลลี่ฟู เค้ามีเสียงที่เวลาเค้าพูด แม้กระทั่งเค้าพูดเพลงคิดถึง แต่เรายังฟังหลอนนิดๆนะ ซึ่งเราฟังเพลงแล้วมันใช่ มันใช่ในการพูดของเค้า พอพูดเสร็จ จะตีลงไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าคุณพูดตรงๆเหมือนชาวบ้าน เหมือนมอเตอร์ไซด์ เหมือนคนกวาดถนน เหมือนคนธรรมดาพูด แล้วคุณใส่ดนตรีหรูมากเนี่ย มันไม่เข้า

DT : แสดงว่าที่พี่ทำวงฟาเรนไฮด์ พี่ต้องคิดถึงนักร้องมากๆเลย ใช่ไหมครับ?
พี่ใหญ่ : ใช่ครับคิดถึงนักร้อง

DT : รวมถึงไลด์ของพี่พิเชษฐ์ด้วย?
พี่ใหญ่ : ใช่ครับ ในตอนนั้น และก็เรื่องของความเหมาะสมด้วย คือถ้าเราจะทำออกแนวเพื่อชีวิต สมมุตินะ มันจำเป็นมากเลยที่คนพูด หรือคนที่วงต้องทำได้ในความคิดผม ผมจะออกมาไม่ใช่ทำเพื่ออุดมการณ์ การเมือง แล้ววงเรามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อเราทำออกไปเนี่ยะ สำหรับผมแล้ว มันไม่เท่ห์

DT : แล้วเมื่อไหรที่วงฟาเรนไฮด์จะได้ออกอัลบั้มชุดใหม่มาให้ได้ฟังกันอีกครับ?
พี่ใหญ่ : อัลบั้มชุดใหม่อาจจะออกปลายปี หรือปีหน้า แต่ว่าอาจจะมีซิงเกิ้ลปล่อยไปก่อน ก็มีกลุ่มอีกแบบนึง ผมก็สนุกดี

DT : สไตล์เปลี่ยนไปจากเดิมมากไหมครับ?
พี่ใหญ่ : ก็คงเปลี่ยนเพราะว่าอย่างที่บอกเราจับยัดไม่ได้ไง ถ้าเราจับยัดปุ๊บมันจะฟังออกมาแบบล้นๆ แล้วมันจะเสียหมด แล้วมันอาจจะขายไม่ได้ เพราะว่าคนฟังฟังแล้วบอกว่าอะไรเนี่ยะ งงไม่หมดแล้ว แต่ว่าคนที่เล่นดนตรีอาจจะชอบ ถ้าเราทำให้มันเหมาะกับเพลงอย่างน้อยๆ คนอาจจะไม่ได้สนใจในไลด์ดนตรีของผมเท่ากับเมื่อก่อน แต่ถ้าเพลงมันได้รับความนิยมเนี่ยมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอีกเรื่องหนึ่งคือก็จะทำให้มีคนอยากมาดูเรา อยากจ้างเราไปขึ้นคอนเสิร์ต แล้วเราก็ไปเล่น พอไปเล่นปุ๊ปเราก็เล่นเพลงของเราที่เราอยากเล่นบ้างแล้วที่นี้

DT : ทีนี้กับอีกบทบาทหนึ่งที่พี่จะต้องไปเล่นแบ๊คอัพให้พี่ป้อม ตรงนี้พี่หนักใจไหมครับ เพราะที่ถามแบบนี้เพราะว่าสมัยก่อนพี่มันต์เป็นคนตีเอาไว้ แล้วพี่ต้องแทนพี่มันต์รู้สึกยังไงบ้างครับ ?
พี่ใหญ่ : ก็จะเป็นช่วงแรก ผมเล่นให้กับพี่ป้อมมา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2540 ก็คืออัลบั้ม Loso ชุดแรก เข้ามาอยู่กับพี่ป้อม
พี่ป้อมก็เข้ามาดู เห็นแล้วก็บอกว่า “เฮ้ย ใหญ่มาช่วยเป็นแบ๊คให้เราได้หรือเปล่าวะ ถ้าเรามีคอนเสิร์ต” เอ้ย!! จริงหรือเปล่าพี่ เพราะว่าเค้าเป็นฮีโร่ที่อยู่ที่มอร์มิวสิค

DT : และสไตล์เวลาที่พี่ตีกับพี่มันต์ตี ก็แตกต่างกัน ?
พี่ใหญ่ : ใช่ครับ เพราะมันตามอายุ ตามฟิวลิ่งก็ต่างกัน ซึ่งมันก็เจ๋งในแบบของพี่มันต์ก็เจ๋งในแบบพี่มันต์ ถ้าเป็นแบบฮาร์ดร็อคเก่าๆ

DT : จากจุดตรงนี้พี่มองพี่มันต์เป็นอย่างไรบ้างครับในการตีกลองให้กับพี่ป้อม?
พี่ใหญ่ : ถ้าสมัยก่อนที่ก่อนมาเล่น โอโห!! มันเจ๋งเพราะพี่ป้อมต้องเลือก ซึ่งพี่มันในยุคนั้นเค้าก็เจ๋งนะ ทุกวันนี้ก็ยังเจ๋งอยู่ แต่ก็อย่างบอก อลัล เชียเรอร์ก็ต้องลง ให้น้องมันขึ้นมา (หัวเราะ) ผมก็คงเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ผมไม่ใช่อลันนะตอนนี้นะ ผมเป็นแบ๊คแฮมอยู่ (หัวเราะ) เป็นเจอร์ราจ ยังอยู่ช่วงกลางๆ แต่ยังไม่ถึงขนาดกาก้า หรือโรนัล นิญโญ่อันนั้นเค้าใหม่สุด

DT : แล้วทุกวันนี้พี่ซ้อมยังไงบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : ที่บ้านพี่มีห้องซ้อม ทำแบบเก็บเสียงได้เหมือนห้องอัดเลย และทำห้องอัดด้วย ทุกวันนี้ผมก็ทำเดโมที่โน่นมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ชุดแรก ใช้ทำเดโมอัดได้เลย

DT : พอตื่นเช้าต้องซ้อม Rudiment ก่อน ต้องมีขั้นตอนไหมครับ?
พี่ใหญ่ : ก็เกือบทุกวันนะ เกือบทุกวัน แต่ว่าอาทิตย์หนึ่งจะมีซ้อมเยอะๆ สักครั้งหนึ่ง 2 ชั่วโมง เพราะว่ามีครอบครัวแล้วต้องคิดหลายอย่าง เราจะเข้าไปซ้อมทุกวันมันเป็นไม่ได้

DT : แล้วกับเวลาทัวร์ พี่ต้องซ้อมยังไงบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : ก็มีผมก็เอาแป้นไป คือที่พูดมาดีมากเลยนะ คือ rudiment มันสำคัญมาก เวลาเจอน้องๆ ผมจะสอนไม่ให้เป็นมวยวัด คือถ้าเป็นอย่างนั้นเนี่ยะ มันจะทำให้ทักษะในการพัฒนามันน้อยลง คือเราต้องมีพรสวรรค์ แต่จริงๆแล้วของทุกอย่างมันไม่จำเป็นต้องมีพรสวรรค์อย่างเดียว มีความรักแล้วถ้าเราทำอย่างถูกวิธีเนี่ยะมันก็จะ พัฒนาไปได้ แล้วเราก็จะเกิดนักดนตรีรุ่นใหม่ได้เยอะกว่า แต่มันต้องฝึกแบบนี้ ผมเจอน้องเจอเพื่อนๆหลายคนบอกต้องฝึกแบบนี้ อันดับแรกไม่ต้องคิดอะไรมากเปิดเพลงมาเนี่ย ฝึก rudiment วันละตัวสองตัว แล้วตีไปด้วยให้อันนั้นมันเป็นเมโทรนอมให้เรา rudiment,double stroke ,single stroke , paradiddle ก็มีหลายตัว แต่ผมก็ทำไม่ได้ทุกตัวหรอก แต่ถ้าทำได้ก็เป็นลูกที่ต้องฝึกมืออยู่แล้ว

DT : กับการที่พี่เป็นมือกลองร็อค ต้องพูดในเรื่องของความอึดในการเล่นสด พี่มีวิธีการฝึกอย่างไรบ้างครับให้ตัวเองเฟิร์มอยู่ตลอดเวลา?
พี่ใหญ่ : ถามว่าเรี่ยวแรงเยอะแบบนักกีฬาไหมมันก็ไม่ใช่ ที่คุยมาก็สังเกต ผมมักจะคิดอะไรอยู่ตลอดเวลา คิดๆ อันดับแรกจับไม้กลอง เราจับไม้กลองเนี่ยมันถูกต้อง กับตัวเราแล้วหรือยัง บางคนบอกพี่สอนผมจับไม้กลองหน่อย สำหรับผมมันไม่ใช่ คุณต้องรู้ว่าคุณจับยังไงแล้วคุณถนัดที่สุด คุณตีแล้วมันสบายที่สุด เพื่อนมือกลองด้วยกันเนี่ยเอามือมาแบเทียบกัน ผมมือสวยที่สุดเลยนะ เล่นคอนเสิร์ตใหญ่เสร็จยังแทบจะไม่มีรอยแตกเลย คืออาจจะมีรอยช้ำนิดหน่อย โดนฉาบโดนอะไรอย่างนี้ เนี่ยแหละอันดับแรกการจับไม้กลอง สั้นยาวพอไหม ขนาดของไม้กลอง และการนั่ง

DT : ก็คือทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสรีระของเรา?
พี่ใหญ่ : ครับ ทำให้เข้ากับสรีระเข้ากับเรามากที่สุด และหลังจากนั้นเราก็ฝึก ผมจะตีไม่ได้เลยถ้าเก้าอี้มันสูงไป หรือเตี้ยมาก แล้วผมจะไม่ผืนเลย เพราะถ้าฝืนปุ๊ปมันจะเสียเหลี่ยม สิ่งสำคัญที่สุดของผมก็คือ bass drum , กระเดื่อง เก้าอี้นั่ง และก็ไม้กลอง ที่ต้องฟิกอยู่ตลอดว่าเป็นแบบนี้

DT : การวางเซ็ตอัพของพี่ พี่วางอย่างไรครับ หมายถึงว่ากระเดื่องต้องทำมุมประมาณไหน?
พี่ใหญ่ : ก็นิดนึงครับ สมมติว่าวิธีการตั้ง bass drum ก่อนนะ ก็จะก็ไม่รู้กี่องศาดี ก็ประมาณซัก 40 ประมาณ นิดนึงให้ด้านหน้ามันเชิดขึ้นมาจากพื้นสักนิ้วนึง ประมาณนิ้วนึง หรือ 3 ซม.อะไรอย่างเนี่ย ให้มันเชิดขึ้นมา มันก็จะให้ความรู้สึกดีขึ้นเวลาเหยียบ และเห็นฝรั่งเค้าบอกว่าต้องให้มันลอยขึ้นมาหน่อยเพราะว่าเสียงมันจะได้ออกเต็ม

fiogf49gjkf0d
DT : กับการที่เป็นมือกลองร็อคพี่เน้นส่วนไหนมากที่สุดครับ?
พี่ใหญ่ : ถ้าพวกนั้นเนี่ย ผมคิดว่าอยู่ที่อารมณ์ของเพลง ไม่ใช่อารมณ์ร็อคต้องเหยียบกระเดื่องแน่นๆหนักๆไม่ใช่ มันอยู่ที่อารมณ์ของมัน เพลงนี้มันควรจะยังไง เช่น เพลงช้าต้องการอารมณ์มาก สแนร์ก็จะกลางๆ แต่ถ้าเพลงเร็วต้องหนักเลย คนที่เป็นนักดนตรีหรือคนฟังจะจับบีทได้ คือก็จะอิงกับสแนร์ก็เหมือนเวลาเราปรบมือกับเพลง คนจะจับกับสแนร์ เราก็จะเน้นแต่สเเนร์ให้ดังหน่อย เพื่อนก็เล่นได้ง่าย คนฟังข้างล่างก็มันส์ ก็คือขึ้นอยู่กับอารมณ์ของเพลง

DT : และในส่วนของ Hi Hat ?
พี่ใหญ่ : มันก็จะตามไป จริงๆ มันเป็นเหมือนตัวรองพื้นที่แบบว่า กระเดื่องกับ เบสดรัมมันไปด้วยกันแล้ว ไฮแฮทก็ต้องมารองให้พอดี คือสองอย่างนี้ดังมาก มันจะผิดธรรมชาติและก็คนฟังก็จะ เฮ้ย !! อะไรวะ มันต้องพอดีกัน ความพอดีให้เข้ากับเพลง

DT : อุปกรณ์ตอนนี้ที่พี่ใช้มีอะไรบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : ตอนนี้นะครับ กลองนะครับตอนนี้ผมเป็น endouser ของยี่ห้อ Gretsch ของร้านธีระมิวสิค ฉาบยี่ห้อ Zildjian ก็ของร้านธีระมิวสิคเหมือนกัน ก็คือคุณแป๋วกับคุณตุ้ เจ้าของร้านเป็นเพื่อนกันมาเกือบๆ 10 ปี แต่จริงๆผมชอบกลองยี่ห้อนี้อยู่แล้ว ผมชอบอะไรที่เป็น vintage หน่อยนะครับ ก็อย่างกลองก็ Ludwig อะไรพวกเนี่ย มันเป็น Vintage หรือ Gretsch และก็มันสร้างความรู้สึกเวลาเล่นด้วยนะ คือผมชอบ Rolling Stone หรือ Phil Collins เค้าก็ใช้ยี่ห้อกลองยีห้อ Gretsch และมือกลองแจ๊สคนหนึ่งที่ผมชอบคือElvin Jones เค้าก็ใช้ยี่ห้อ Gretsch แล้วนึกออกไหมเหมือนกับเวลาเล่น Fender รุ่น Jimmie Hendrix ก็รู้สึกว่ามันสร้างแรงบันดาลใจดี และของเค้าก็ดีด้วย

DT : แล้วในส่วนของแฉแหละครับ ?
พี่ใหญ่ : กลองก็ผมมี 2 เซ็ต ถ้าคนเคยเห็นชุดสีขาวนะ ของยี่ห้อ Gretsch คือมี Bass Drum 2 อัน ก็เล่นให้พี่ป้อมพี่โต๊ะนะครับ อันนั้นก็จะมี Bass Drum 22 นิ้ว 2 ลูก Tom 10 “ ,12” Flortom 14 กับ 16 สแนร์เนี่ยผมใช้ตั้งแต่สมัยโลโซนะครับ สแนร์ Tama ....คาดว่ารุ่นที่ผมใช้ก็จะมีผมใช้อยู่คนเดียว และก็อีกชุดนึงที่ผมเล่นกับวงฟาเรนไฮด์หรือว่าเล่นส่วนตัว แบบว่าที่ไม่ใช่เล่นกับพี่ป้อม คือผมตีน้อยคนดูจะรู้ว่าผมคีแค่ tom ใบนึง flortom 2 ใบ คือ Bass Drum 22” ,flortom 14 ,16 และก็เซ็ตอัพฉาบนะครับ ก็มี ไฮแฮท 14 “ รุ่นอะไรก็ได้นะ รุ่น Z ก็ได้ K ก็ได้ อืม..K นี่ใช้อัดเสียง แฉผมจะใช้เบอร์ใหญ่เริ่มจาก 19 นิ้ว 19,20,21 นิ้ว ที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็คือ 19 Z rock clash แล้วก็ 21 เป็น sweet light แต่มาทำเป็น clash แล้วก็ 21” A Rock Line ส่วน Bass Drum ของ DW 5000 ไม้กลองก็ของ Zildjian 5 b หนังกลองของ Evans ครับ ซื้อได้ที่ร้าน ธีระมิวสิคครับ (หัวเราะ)

DT : พี่สนใจเรื่องของมือกลองแจ๊ส ?
พี่ใหญ่ : สนใจมากๆ แต่ไม่ได้บอกว่าเล่นได้นะ แต่ผมชอบมากๆ

DT : มือกลองแจ๊สหลายๆคนมักจะฝึกการสลับมือกัน อย่างเช่น Billy Cobham เป็นต้น?
พี่ใหญ่ : ใช่!! อย่างที่บอกนะ ผมได้ดูพวกเทคนิคพวกเนี่ยเยอะมาก โดยเฉพาะรุ่นที่อยู่ในยุค 60-70 อย่าง Billy Cobham ตอนที่เล่นกับ Mahavisanu Orchestra โห !! สุดยอด

DT : แล้วพี่เอาการฝึกแบบเล่นแจ๊สมาฝึกด้วยหรือเปล่าครับ?
พี่ใหญ่ : ผมไม่ค่อยเท่าไหร่นะพวกนี้ เพราะว่าสไตร์การตีกลองจริงๆของผมโดยรวมเนี่ย ผมเป็นมือกลองเน้นที่กรู๊ฟและแพทเทิร์นมากกว่า เน้นการเล่นแบบโดยรวมมากกว่าจะใช่เทคนิค ถ้าโห!! มือสลับเป็นปลาหมึกไม่ใช่ สไตล์ของผม อย่างที่บอกคือแรงบัลดาลใจของผมก็คือ Metallica ,nirvana อย่างสมัยก่อนก็ John Bonham ก็จะออกแบบฮาร์ดร็อคหนักๆ ลูกหัก แต่เค้าจะไม่มี มีแต่มันน้อยที่จะแบบเหมือน Billy Cobham

DT : คือหมายถึงวิธีการตีอย่างมือซ้าย มือขวาต้องมีบาลานด์เท่ากัน อย่าง Billy Cobham เค้าจะตีถนัดทั้ง 2 ข้าง?
พี่ใหญ่ : อ๋อ !! Both Hand ตีถนัดทั้ง 2 ข้างอย่างนั้นเนี่ย ถ้าเอาอย่างนั้นนะ ผมพอได้ แต่จะไม่เท่าด้านขวา

DT : ควรจะฝึกไหมครับ?
พี่ใหญ่ : ควรฝึกเลยครับ อืม คำถามอันนี้ดี ก็ลูกทุกอย่างที่เราฝึก rudiment ไม่ว่าจะเป็นที่เท้า ถ้าคนเล่น 2 กระเดื่องนะ ก็ต้องทำด้วย เอาซ้ายขึ้นเอาขวาขึ้นก่อน ส่วนมือเนี่ยทุกคนควรทำซ้ายขึ้นก่อน ขวาขึ้นก่อน บางครั้งถ้าอยากสนุกลองกลับด้านตีดู หมายถึงยกทุกอย่างกลับกัน อันนั้นดีครับ ต้องทำต้องทำ

DT : ปัจจุบันนี้นอกจาก Lars Ulis หรือ Dave Grohl ที่เป็นฮีโร่ของพี่มีใครอีกบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : เยอะมากๆ (หัวเราะ) แนะนำได้หลายคน ถ้ายุคหลังจาก Nirvana มาเนี่ย พอผมอยู่กรุงเทพผมก็เริ่มฟังเพลงเยอะมาก Rage Against The Machine มือกลองBrad Wilk เนี่ยเจ๋งมาก โครตชอบเลย

DT : พี่ได้ทันดู ตอนมาเล่นในเมืองไทยหรือเปล่าครับ มันส์มาก ?
พี่ใหญ่ : ตอนนั้นผมเล่นคอนเสิร์ตอยู่สกลนคร ตอนนั้นอยู่ Loso แล้ว โห เสียดายมาก พี่โครตชอบเลย Brad Wilk เพราะว่าชอบดนตรีเค้าก่อน แล้วผมก็ซื้อหนังสือมาอ่าน หนังสือพวก Modern Drummer ,Guitar Player มาอ่านมาดู เฮ้ย !!นี่มันตรงกับเราเลยนี่หว่า มันเหมือนนะ Brad Wilk มีบาลานซ์หยินหยาง มันเหมือนเราเล่นแบบมี ความคิดนะ อย่างน้อยๆเราตีจังหวะธรรมดา คนฟังข้างล่างชอบวะอะไรอย่างเนี่ย Brad Wilk เค้าคิดแบบนี้ ก่อนหน้ากระเดื่องเม็ดนึง ใส่ Ghost โน้ต ไปนิดเดียวเนี่ย ก็เปลี่ยนเพลงนั้น เปลี่ยนความรู้สึกคนฟังไปได้ คือแบบเออ !!เขาคิดเยอะ และเขานับถือศาสนาพุทธด้วย คือมือกลองฝรั่งที่ชอบมีหลายคน และก็ Chad Smith นี่ก็ชอบ แล้วก็พอมายุคใหม่เลยก็มี John Otto วง Limp Bizkit ก็เจ๋ง แล้วก็มา System Of A Dawn โห!! สุดยอดคนนี้ คือผมจะชอบใครก็ได้ที่เล่นออกมาแล้วไม่เหมือนใคร ที่พูดมาทั้งหมดไปดูมาเออตีกลองไม่เหมือนใครเลย ทั้งดนตรี ทั้งการตีกลองของเค้า แพทเทิร์น การคิดไลด์กลอง และก็ล่าสุดตอนนี้แบบบ้าเลยนะ คือชอบสุดเลย John Tudor โห สุดยอดเลยคนนี้ ฝีมือของ Billy Cobham บวกJohn Bonham เจ๋งมาก โครตเจ๋ง!! คือผมดูผมก็ทำไม่ได้อย่างเค้าหรอก แต่มันเหมือนมีศิลปินคนหนึ่งมาวาดรูปแล้วโครตโดน งานเค้ามันโดนมาก คือมันมีแนว เนี่ย JohnTudor เจ๋งมากๆ เนี่ยแหละที่บ้าอยู่ตอนนี้

DT : แล้วถ้ากับมือกลองคนไทย พี่ชอบใครบ้างครับ?
พี่ใหญ่ : คนไทยก็พี่กุ๊งกิ๊ง The Olarn Project คนนี้ทำให้ผมแบบอยากจะเล่นเป็นมือกลองร็อค ต่อมาก็เป็นพี่อู๊ด ยานนาวาในยุคที่เล่นกับคาราวาน ผมชอบเพื่อชีวิต ชอบพวกการเมืองอะไรอย่างเนี่ย พี่อู๊ด ก็สามารถจับพวกเพอร์คัทชั่น พวกอะไรอย่างนี้เยอะ พวกเวิลล์จับมาใส่ในเพลงแล้วมันแบบมันโดนหวะ มันฝรั่งเลยอะ ก็มี 2 คนนะ และก็ส่วนเรื่องงานในสตูดิโอเนี่ยน้าสู Zildjian ก็ถือว่าเค้าเด่นดังตรงนั้น มือกลองในสตูดิโอ

DT : มือกลองร็อคกับเรื่องของ speed พี่คิดเห็นอย่างไรครับ ?
พี่ใหญ่ : โอเค คือทุกอย่างต้องเริ่มจากช้าๆก่อนนครับ ถ้าฝึกกับเมโทรนอมก็ฝึกช้าๆเลย และก็ต้องมีความอดทนของพวกเนี่ย ผมก็ทำได้ไม่เร็วมากนะก็ประมาณนึง แต่ว่ามันมาจากตอนแรกที่ช้ามากเลย แล้วค่อยๆทำแล้วมันจะเสถียร มันจะมั่นคง มันจะดีกว่า มันดีกว่าถ้าไปถึงแล้วฝึกเร็วเลยแล้วมันจะท้อ มันจะทำไม่ได้

DT : คำถามสุดท้ายครับ มีอะไรอยากบอกมือกลองน้องๆ บ้างครับ?
พี่ใหญ่ : ก็ถ้าได้อ่านบทสัมภาษณ์ของผมนะครับ คือที่ผมพูดของการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟังเพลง หรือว่าเล่นดนตรีเพื่อเพลง หรือว่าอะไรต่างๆ ถ้าฟังแล้วเอาไปทำแล้วมันมีประโยชน์พี่ก็จะดีใจมากนะครับ คือไม่ว่าจะเป็นกลองหรือกีตาร์อะไร อย่าคิดว่าเทคนิคนำ มันจะมีแบ่งหลายอย่าง การตีกลองก็จะมีกรู๊ฟ มีไดนามิค มีเทคนิคนะครับ และก็มีเรื่องของการจัดระเบียบอะไรอย่างเนี่ย มันมีหลายอย่างแต่ว่าผมอยากให้เน้นที่สุดคือเรื่องของเล่นแล้วให้คนรู้สึกดี ก็คือกรู๊ฟ และก็ไดนามิคหนักเบาก่อน แล้วเราพอได้ตรงนี้ปุ๊บ แล้วเรามาใส่เทคนิค เอ้ยลองมาเปลี่ยนลูกนี้มาใส่ตรงนี้ดูหน่อยอะไรอย่างเนี่ย ผมคิดว่าจะดีกว่า ผมเจอหลายๆคน เน้นเทคนิคมากเกินไป แต่คนดูอยู่ข้างล่างเค้าไม่รู้สึกว่าคุณเก่งเลย เพราะว่าสิ่งที่จะทำให้เค้ารู้สึกคุณไม่ได้ทำ ตีไม่มันส์ แต่แบบทำไมส่งเยอะจังเลย กลับตีไม่มันส์ ก็ลองคิดดูครับ

สัมภาษณ์สุดยอดมือกลองกระเดื่องคู่ เลาะห์ อิทธิชัย บัวแก้ว
Click Here
สัมภาษณ์ น้าเป้า คาราบาว พร้อมสาธิตการเล่นในแบบต่างๆ
Click Here
Ari Hoenig สุดยอดมือกลองแจ๊สรุ่นใหม่
Click Here
Simon Phillips มือกลองผู้เล่นได้แบบ all-around
Click Here
Steve Smith หนึ่งในเทพเจ้ามือกลอง Jazz
Click Here
สัมภาษณ์ พี่เล็ก ทีโบน
Click Here
อ่านทั้งหมด Click ที่นี่

any comments, please e-mail   webmaster@drummerthai.com)
© All rights reserved 1999 - 2010. All contents in this web site are the properties of www.drumthai.com and Saratoon Suttaket